วิธีการใช้บรรจุภัณฑ์ที่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อยที่สุด ตอนที่ 4 (Zero waste packaging Part 4)

หลักการรีไซเคิล (Recycle): รีไซเคิลวัตถุดิบบรรจุภัณฑ์ หรือทำลายบรรจุภัณฑ์เพื่อนำวัตถุดิบกลับมาใช้ใหม่

เรื่อง : ธิตยา ถนอมวงศ์ 

หลังจากที่เราได้เรียนรู้ 2 หลักการสำคัญใน Zero waste packaging hierarchy ได้แก่ 1. หลักการกำจัด และการลดการใช้บรรจุภัณฑ์ (Eliminate /Reduce) 2. หลักการนำกลับมาใช้ใหม่ (Reuse/Refill) ในบทความก่อนหน้านี้ไปแล้ว

วันนี้เราจะพูดถึง หลักการสำคัญที่ 3 : หลักการการรีไซเคิล (Recycle) หลักการนี้เน้นการใช้วัตถุดิบบรรจุภัณฑ์ที่สามารถรีไซเคิลได้ หรือสามารถผ่านกระบวนการผลิตให้กลายเป็นวัตถุดิบใหม่ เพื่อนำเข้าสู่กระบวนการผลิตบรรจุภัณฑ์ใหม่ เช่น การรีไซเคิลกระดาษ หรือพลาสติก เพื่อทำเป็นกระดาษ หรือภาชนะพลาสติกใหม่ การรีไซเคิลแก้ว หรืออะลูมิเนียม และนำมาสร้างบรรจุภัณฑ์ใหม่ 

หลักการรีไซเคิลเป็นทางเลือกที่ดีในการลดการใช้งานทรัพยากรใหม่ ลดการสร้างขยะในกระบวนการผลิต รวมถึงลดมลพิษต่อสิ่งแวดล้อมที่เกิดขึ้นจากการจัดการของบรรจุภัณฑ์หลังการใช้งานอีกด้วย ตัวอย่างสินค้า และบรรจุภัณฑ์ที่ใช้หลักการ การรีไซเคิล (Recycle): รีไซเคิลวัตถุดิบเพื่อนำวัตถุดิบกลับมาใช้ใหม่ที่น่าสนใจดังนี้

1. เครื่องดื่มเป๊ปซี่®  เป็นเจ้าแรกในตลาดเครื่องดื่มน้ำอัดลม ที่ใช้ขวดพลาสติก PET จากพลาสติกรีไซเคิล 100% นำร่องด้วยเครื่องดื่มเป๊ปซี่® ขนาด 550 มิลลิลิตร เพื่อช่วยลดปริมาณการใช้พลาสติกใหม่ (Virgin PET) อย่างเป็นรูปธรรม ตั้งแต่การออกแบบบรรจุภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ใช้ขวด PET คุณภาพดี สามารถนำกลับมารีไซเคิลได้ 100% เพื่อแปรสภาพใหม่เป็น ขวดพลาสติกรีไซเคิล (recycled PET) หรือ ขวด rPET ซึ่งเป็นหนึ่งในเมกะเทรนด์ด้านบรรจุภัณฑ์แห่งความยั่งยืน และผู้ผลิตทั่วโลกกำลังให้ความสำคัญเป็นอย่างมาก

Ref: Pepsi

2.  มิเนเร่ ส่งบรรจุภัณฑ์ขวดรักษ์โลก rPET ที่ผลิตจากพลาสติกรีไซเคิลรายแรกในตลาดน้ำดื่มไทย มิเนเร่ rPET  ผลิตจากเม็ดพลาสติกรีไซเคิล ผ่านกระบวนการแยก ย่อย หลอม จนเป็นขวดรักษ์โลก rPET ใช้พลังงานน้อยกว่าประมาณ 80% และสามารถช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้มากถึง 24%”

Ref: มิเนเร่

3. ปัจจุบันได้มีการออกแบบหลอดยาสีฟันโฉมใหม่ ให้สามารถรีไซเคิลได้อย่างเต็มรูปแบบ จากในอดีตที่หลอดยาสีฟันนิยมทำมาจากวัสดุหลายชนิด (Multi-Material) เป็นทั้งพลาสติก และอะลูมิเนียม ซึ่งเรียกว่า หลอดลามิเนตอะลูมิเนียม ส่งผลให้ไม่คุ้มค่าต่อการรีไซเคิล เนื่องจากไม่สามารถแยกพลาสติก และอะลูมิเนียมออกจากกันได้ง่าย

แต่หลอดยาสีฟันรูปแบบใหม่นี้ เป็นการพัฒนาหลอดลามิเนตที่ไม่ใช่อะลูมิเนียม และเลือกใช้พลาสติกที่เป็นตระกูลเดียวกัน หรือ Mono-Material Structure  ที่ยังคงคุณสมบัติของบรรจุภัณฑ์ที่ดี และรีไซเคิลได้ง่าย

Ref: “Recycle Me!”, the all-new Colgate toothpaste

4. บริษัท เนสท์เล่ (ไทย) จำกัด ได้เป็นผู้ริเริ่มพัฒนานวัตกรรมบรรจุภัณฑ์รักษ์โลก

4.1  ซองบรรจุภัณฑ์ด้านนอกของเนสกาแฟ โพรเทค โพรสลิม เปลี่ยนจากซองพลาสติก มาเป็นซองกระดาษ เป็นประเทศแรกของเนสท์เล่ทั่วโลกเมื่อปี 2562  

4.2  เปลี่ยนจากซองพลาสติกจากซองลามิเนตแบบวัสดุหลายอย่าง  (Multi -Material Structure ) มาเป็นแบบซองพลาสติกแบบ Mono Material Structure ที่ผลิตจากพลาสติกตระกูลเดียวกัน โดยทำการเปลี่ยนซอง เนสกาแฟ โพรเทคโพรสลิม จากลามิเนตแบบใหม่เรียบร้อยแล้วเมื่อปี 2563 และเปลี่ยนจากซองพลาสติกลามิเนตแบบวัสดุหลายอย่าง มาเป็นแบบซองพลาสติกแบบ Mono Material Structure ที่ผลิตจากพลาสติกตระกูลเดียวกันขึ้นมาได้จนสำเร็จเป็นครั้งแรกของวงการกาแฟโลก และยังสามารถนำไปรีไซเคิลได้เป็นครั้งแรกของโลกได้สำเร็จให้คนไทยได้ใช้กันเป็นประเทศแรก  

นวัตกรรมซอง Mono Material Structure ได้รับการออกแบบให้ยังคงคุณสมบัติของบรรจุภัณฑ์ที่ดี ทำหน้าที่เหมือนกับซองกาแฟปัจจุบันมากที่สุด เพื่อกักเก็บรสชาติ กลิ่นหอม และความสดใหม่ของผลิตภัณฑ์ที่บรรจุอยู่ในซองจนกว่าจะถึงมือผู้บริโภค ซึ่งข้อดีที่แตกต่างคือ ซอง Mono Material Structure สามารถนำไปรีไซเคิลได้ง่าย

4.3 ในปี 2562 เนสท์เล่ได้เริ่มเปลี่ยนบรรจุภัณฑ์เนสกาแฟกระป๋องลาเต้ และแบล็กไอซ์จากกระป๋องเหล็กเป็นอะลูมิเนียมที่สามารถรีไซเคิล และในปี 2563 เนสท์เล่เดินหน้าเปลี่ยนกระป๋องเนสกาแฟ เอสเพรสโซ่ โรสต์ เป็นกระป๋องอะลูมิเนียม ทำให้ผลิตภัณฑ์ในกลุ่มกาแฟกระป๋องพร้อมดื่มทั้งหมดสามารถนำไปรีไซเคิลได้ ซึ่งเมื่อเทียบกับการผลิตใหม่จะช่วยประหยัดพลังงานได้ถึง 95% 

หนึ่งในคุณสมบัติที่ดีของอะลูมิเนียม คือตัววัสดุสามารถรีไซเคิลได้ไม่จำกัดจำนวนครั้ง จะหลอมใหม่กี่ครั้งก็ยังคงสภาพการใช้งานได้เหมือนเดิม ต่างจากกระป๋องเหล็กแบบเดิมที่นำมารีไซเคิลได้ยากกว่า ทั้งยังมีน้ำหนักมาก และไม่สามารถกดบี้ให้แบนลงได้ ทำให้เปลืองเนื้อที่ในการจัดเก็บขยะ เนื่องจากกระป๋องอะลูมิเนียมมีลักษณะบางกว่ากระป๋องเหล็ก จึงจำเป็นต้องอัดแก๊สเพื่อสร้างความแข็งแรง แต่จุดเด่นที่มาทดแทนคือ ไม่เกิดสนิม น้ำหนักบรรจุภัณฑ์ลดลงทำให้ขนส่งได้มากขึ้น เป็นการประหยัดพลังงานในทางอ้อมด้วย

Ref: nestle.co.th, Nescafé

หลักการ Zero waste packaging hierarchy ทั้ง 3 หลักการ สะท้อนให้เห็นถึงแนวคิดในการใช้บรรจุภัณฑ์ที่ลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม 3 ด้านสำคัญ ดังนี้

1. ช่วยจัดการการใช้ทรัพยากร และวัสดุให้มีประสิทธิภาพ และมีความยั่งยืน โดยหลีกเลี่ยงการใช้งานของสิ่งของที่สิ้นเปลือง 

2. ลดภาระต้นทุนในการผลิต และเน้นการนำกลับสู่กระบวนการผลิตใหม่ ทำให้วัสดุ และสินค้าสามารถนำกลับเข้าสู่ระบบเศษฐกิจได้ เป็นการใช้ทรัพยากรในระยะยาวได้อย่างยั่งยืนโดยไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม

3. ลดมลพิษ ลดภาระของการสร้างขยะที่สิ้นเปลืองในสิ่งแวดล้อม

Picture of ธิตยา ถนอมวงศ์

ธิตยา ถนอมวงศ์

Leave a Comment

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

Scroll to Top