
วิธีการใช้บรรจุภัณฑ์ที่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อยที่สุด ตอนที่ 3 (Zero waste packaging Part 3)
หลักการนำกลับมาใช้ใหม่ (Reuse/Refill): นำกลับมาใช้ใหม่ได้หลายครั้ง บรรจุภัณฑ์ที่เติมเต็มได้
เรื่อง : ธิตยา ถนอมวงศ์
หลังจากที่เราได้เรียนรู้ หลักการแรกของ Zero waste packaging hierarchy ได้แก่ หลักการของการกำจัด และการลดการใช้บรรจุภัณฑ์ (Eliminate /Reduce) รวมไปถึงได้เรียนรู้ตัวอย่างงานออกแบบผลิตภัณฑ์ และบรรจุภัณฑ์ทางเลือก โดยใช้วัตถุดิบที่สะท้อนคุณค่าอย่างยั่งยืน (Sustainable Material Choices) และส่งผลผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อยที่สุด
บทความนี้จะพูดถึง หลักการที่2 ของ Zero waste packaging hierarchy ได้แก่ หลักการนำกลับมาใช้ใหม่ (Reuse): หลักการนี้จะเน้นเรื่องการใช้บรรจุภัณฑ์ที่สามารถนำกลับมาใช้ใหม่ได้ โดยการออกแบบบรรจุภัณฑ์ให้ทนทาน และสามารถนำกลับมาใช้ได้หลายครั้ง เช่น ขวดน้ำ ที่เป็นขวดแก้ว เราสามารถนำขวดแก้วกลับมาใช้บรรจุน้ำใหม่ และขายต่อได้อีกหลายครั้ง รวมทั้ง หลักการของการเติมเต็ม (Refill) ซึ่งเน้นการใช้บรรจุภัณฑ์ที่สามารถเติมเต็มสินค้าได้หลายครั้ง โดยลดปริมาณขยะจากการทิ้งบรรจุภัณฑ์ที่ใช้เพียงครั้งเดียว และสร้างความสะดวกในการส่งเสริมการใช้งานซ้ำ ๆ
ตัวอย่างสินค้า และบรรจุภัณฑ์ที่ใช้หลักการนำกลับมาใช้ใหม่ (Reuse/Refill): นำกลับมาใช้ใหม่ได้หลายครั้ง บรรจุภัณฑ์ที่เติมเต็มได้ ที่น่าสนใจมีดังนี้
1. ตัวอย่างของการลดการใช้พลาสติกในผลิตภัณฑ์นวัตกรรมยาสีฟัน (CHEWW) แบบเม็ดของไทย และผลิตภัณฑ์ นวัตกรรมยาสีฟันกรรมยาสีฟันของคอลเกต ทั้งสองแบรนด์หลีกเลี่ยงการสร้างขยะจากหลอดพลาสติก โดยเลือกใช้บรรจุภัณฑ์ขวดแก้วที่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อยที่สุด เหตุเพราะขวดแก้วสามารถ นำกลับมาใช้ใหม่ (Reuse) นอกจากนี้ ทั้งสองแบรนด์ยังมีขายผลิตภัณฑ์แบบรีฟิล โดยบรรจุยาสีฟันแบบเม็ดลงในถุงกระดาษ สกรีนโลโก้ เพื่อกระตุ้นให้ผู้บริโภคซื้อยาสีฟันแบบเม็ดในถุงรีฟิลมาเติมในบรรจุภัณฑ์ขวดแก้วที่มีอยู่ เป็นการลดปริมาณขยะจากการทิ้งบรรจุภัณฑ์หลอดแบบใช้แล้วทิ้ง (Single Use) และสร้างความสะดวกพร้อมส่งเสริมการใช้บรรจุภัณฑ์ซ้ำ ๆ ช่วยกลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมอย่างมากที่สุด


Ref: Cheww.co Toothpaste – A Day Magazine
2. จากตัวอย่างของการลดการใช้พลาสติกในผลิตภัณฑ์นวัตกรรม “ซูเปอร์คอนเซนเทรท” นำ้ยาทำความสะอาดขวดพลาสติก รีฟิล ของ Cif ที่นำเสนอไปแล้วในตอนที่2 ผลิตภัณฑ์นวัตกรรมนี้ยังเป็นการออกแบบผลิตภัณฑ์ และบรรจุภัณฑ์ที่ใช้วัสดุทางเลือกที่ยั่งยืนในหลาย ๆ ด้าน รวมทั้งมีการออกแบบโดยนำ หลักการนำกลับมาใช้ใหม่ (Reuse) และการเติมเต็มให้เกิดศักยภาพ (Refillability) อีกด้วย
ผลิตภัณฑ์ซูเปอร์คอนเซนเทรทนำ้ยาทำความสะอาด รีฟิล ของ Cif เราสามารถผสมผลิตภัณฑ์กับนำ้แล้วนำมาใช้เองในบ้าน เป็นส่วนหนึ่งในการช่วยลดปริมาณขยะ จากการใช้ขวดสเปรย์พลาสติก หรือขวดพลาสติกแบบใช้แล้วทิ้ง (Single Use) ทำให้เกิดการใช้ซ้ำ (Reusable) และสร้างความสะดวกในการส่งเสริมการใช้งานซ้ำ ๆ กับรีฟิลของ Cif ที่ใช้บรรจุภัณฑ์ขวดสเปรย์พลาสติก หรือขวดพลาสติกที่สามารถเติมเต็มได้หลายครั้ง (Refillable) เช่นเดียวกับผลิตภัณฑ์ซูเปอร์คอนเซนเทรทนำ้ยาทำความสะอาดรีฟิลของ Truman’s

Ref: Smart Cif refill packaging,Household Care Brand
3. หลักการนำกลับมาใช้ใหม่ (Reuse) และการเติมเต็ม (Refill) รีฟิล สเตชั่น แห่งแรกของยูนิลีเวอร์ โดย รีฟิล สเตชั่น แห่งแรกของยูนิลีเวอร์นี้ ผู้บริโภค และลูกค้าสามารถนำบรรจุภัณฑ์เดิมที่ทำความสะอาดแล้วขนาดตั้งแต่ 1 ลิตรขึ้นไป มาเติมผลิตภัณฑ์น้ำยาปรับผ้านุ่มคอมฟอร์ท อัลตร้า เดลี่ เฟรช สูตรเข้มข้นพิเศษ ช่วยลดการใช้พลาสติกแบบใช้แล้วทิ้ง (Single Use) ทำให้เกิดการใช้ซ้ำ (Reusable) สิ่งที่ผู้บริโภคจะได้รับคือ ประหยัดค่าใช้จ่ายได้มากถึง 30% เนื่องจากผลิตภัณฑ์แบบเติมจะมีราคาที่ถูกกว่า เป็นการลดภาระค่าครองชีพได้เป็นอย่างดี และที่สำคัญช่วยลดปริมาณขยะพลาสติกซึ่งดีต่อสิ่งแวดล้อม และผู้คน

Ref : Unilever
4. การซื้อสินค้าแบบรีฟิลที่ รีฟิล สเตชั่น (Refill Station)
คาดว่าเทรนด์การซื้อสินค้าแบบรีฟิล และสินค้าแบบไร้บรรจุภัณฑ์จะได้รับความนิยมมากขึ้น เนื่องจากไลฟ์สไตล์ของคนรุ่นใหม่ให้ความสำคัญกับการดูแลสิ่งแวดล้อม ผู้บริโภคและลูกค้าสามารถนำภาชนะ หรือบรรจุภัณฑ์ มาซื้อผลิตภัณฑ์ทั้งอาหาร ของกินของใช้ได้ที่ รีฟิล สเตชั่น ใกล้บ้าน ก่อให้เกิดประโยชน์ต่อลูกค้าดังต่อไปนี้
- ช่วยกันลดปริมาณขยะ จากการใช้บรรจุภัณฑ์ แบบใช้แล้วทิ้ง (Single Use)
- ทำให้เกิดการใช้ซ้ำ (Reusable) สามารถใช้บรรจุภัณฑ์ ที่สามารถเติมเต็มได้หลายครั้ง
- ช่วยประหยัดค่าใช้จ่าย เนื่องจากเราสามารถซื้อผลิตภัณฑ์ได้ตามจำนวนที่พอเพียงกับความต้องการในราคาที่ต่ำ ไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายของบรรจุภัณฑ์แบบใช้แล้วทิ้ง


Ref: Refill Station, Thailand’s first refill store When business makes the world a better place (ngthai.com), ‘Zero Moment’ ,Muji
ผู้ประกอบการอย่างพวกเราสามารถที่จะนำหลักการออกแบบที่ยั่งยืน (Sustainable Design) มาปรับใช้ได้: ทั้งการออกแบบผลิตภัณฑ์ และบรรจุภัณฑ์ที่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อยที่สุด ตั้งแต่การผลิตจนถึงการทำลายรวมไปถึงหลักการการใช้วัตถุดิบที่สะท้อนคุณค่าอย่างยั่งยืน (Sustainable Material Choices) พร้อมมองหานวัตกรรมใหม่ ทั้งผลิตภัณฑ์ และบรรจุภัณฑ์ที่ยั่งยืน และยังสามารถช่วยลดภาระต้นทุนในกระบวนการผลิตของผู้ประกอบการด้วย
ท่านสามารถติดตามบทความเจาะลึกในรายละเอียดของหลักการที่ 4 หลักการของการรีไซเคิล (Recycle) พร้อมตัวอย่างจริง ทั้งในประเทศไทย และต่างประเทศที่ผู้ประกอบการอย่างพวกเราสามารถนำมาปรับใช้ได้กับบรรจุภัณฑ์ของสิ้นค้า และบริการของเราได้ในบทความต่อไป
