Kudson Perfectly Imperfect สื่อสาร “คุณค่า” ส่งต่อ “รอยยิ้ม” ผ่านบรรจุภัณฑ์
สุวิทย์ วงศ์รุจิราวาณิชย์
เพราะ “ความงาม” เป็นเครื่องล่อตาล่อใจให้ผู้บริโภคเลือกหยิบผัก และผลไม้ที่มีรูปลักษณ์ดี ขนาดพอเหมาะติดมือกลับบ้าน ทิ้งเหลือไว้แต่ผัก และผลไม้ที่ดูแปลกตาไม่สมส่วนอยู่คาทิ้งไว้ที่ก้นกระบะภายในร้าน คำถามที่ตามมาคือ ใครเป็นผู้สร้าง “มาตรฐานความงาม” ของผัก และผลไม้ ? ใครเป็นคนกำหนดว่าอะไรที่สวยพอที่จะกินได้ ? ข้อมูลสำคัญที่คุณอาจไม่ทราบว่า การตัดสินใจเลือกผัก และผลไม้จากรูปลักษณ์ภายนอกนี่เองที่ส่งผลให้เกิด “ขยะที่เป็น Food Waste” สูงถึง 300 ล้านตันต่อปี
ด้วยเหตุนี้ แบรนด์ “KUDSON” จึงมีแนวคิดในการนำผัก และผลไม้ที่ดูผิดรูปมาพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์ผัก และผลไม้อบแห้งที่ยังคงคุณค่าทางโภชนาการไม่แพ้ผัก และผลไม้ที่มีรูปลักษณ์ดี ภายใต้แนวคิด “ไม่สวย แต่อร่อย : Imperfectly, but perfectly delicious!” พร้อมเสริมทัพไฮไลท์ข้อความการันตี (Callout Sticker) ที่เป็นจุดขาย เช่น Good tasted, not wasted – Perfectly Good – Unique produce – 100% of profit goes to charity เพื่อตอกย้ำให้เห็นว่า ผัก และผลไม้ที่มีรูปลักษณ์ไม่ดี หรือสวยไม่ได้มาตรฐาน ยังคงมี “คุณค่า” ทางโภชนาการที่ดีพอ เหมาะกับการรับประทานเช่นกัน ที่สำคัญรายได้หลังจากหักค่าใช้จ่ายทั้งหมดมอบให้กับมูลนิธิด้วย
ในส่วนของงานออกแบบบรรจุภัณฑ์ ทีมงานเลือกใช้ภาพวาดรูปผัก และผลไม้ที่ดูไม่สมส่วนมาถ่ายทอดเป็นใบหน้าคนพร้อมรอยยิ้ม เพื่อเพิ่มความน่ารัก และเป็นสื่อกลางในการถ่ายทอดแนวคิด Perfectly Imperfect โดยวางภาพผัก และผลไม้บนพื้นสีขาว ส่งเสริมให้ภาพวาดมีความโดดเด่น ชัดเจน มองจากระยะไกลก็ยังเห็นว่าสินค้าที่อยู่ด้านในผลิตมาจากผัก และผลไม้ที่ผิดรูป นอกจากนี้ ทีมงานยังตอกย้ำแนวคิดของผลิตภัณฑ์ผ่านข้อความที่ปรากฏอยู่ด้านหลัง เช่น 40% ของผัก และผลไม้ที่เก็บเกี่ยวบนโลกใบนี้ถูกทิ้งให้กลายเป็นขยะเพราะไม่ผ่านมาตรฐานความงาม – เราอยากให้ทุกท่านได้มองเห็น “คุณค่า” ที่แท้จริงของเรา – ด้านในยังสวยงาม และสมบูรณ์ เป็นต้น เพื่อตอกย้ำให้เห็นว่า ผัก และผลไม้อบแห้งของแบรนด์ Kudson ใส่ใจแก้ปัญหาเรื่องขยะ Food Waste พร้อมกระตุ้นให้ผู้บริโภคตระหนักถึงปัญหานี้ร่วมกัน
งานออกแบบบรรจุภัณฑ์จึงไม่ได้ทำหน้าที่เพียงแค่ปกป้องสินค้าให้คงคุณภาพเท่านั้น แต่อีกหนึ่งหน้าที่สำคัญคือการเป็น “ตัวกลาง” ในการสื่อสารแนวคิดผลิตภัณฑ์ และ “คุณค่า” ของแบรนด์ว่าจะเติบโตไปในทิศทางใด เช่นเดียวกับแบรนด์ Kudson ที่ให้ความสำคัญกับการใช้ทรัพยากรให้คุ้มค่ามากที่สุด เปลี่ยน Food Waste ที่ไร้ค่า (ทางความรู้สึก) ให้มีคุณค่า (ทางด้านแบรนด์ และทางด้านโภชนาการ) จึงไม่น่าแปลกใจที่ผลงานการออกแบบจาก Prompt Design ในครั้งนี้ได้รับการยอมรับจากหลายสถาบัน เช่น รางวัล DEmark 2024 ด้านการออกแบบบรรจุภัณฑ์จากสำนักส่งเสริมมูลค่าเพิ่มเพื่อการค้า กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์, Notable Packaging Award จาก Core77 Design Award 2023, PENTAWARDS Shortlist 2023 เป็นต้น
Writer
สุวิทย์ วงศ์รุจิราวาณิชย์
นักเขียน