Take-me-home Packaging

เรื่อง : ผศ.โสมภาณี ศรีสุวรรณ

ทุกวันนี้ วิถีชีวิตของคนเราโดยเฉพาะผู้ที่อยู่อาศัยในเมืองใหญ่ ๆ มักถูกกำหนดด้วยวิถีของสังคมที่เต็มไปด้วยความรีบเร่ง ตั้งแต่เช้าจรดเย็น ผู้คนต่างก็รีบออกจากบ้านไปทำงาน ไปเรียน ไปทำกิจธุระต่าง ๆ ต้องรีบเร่งเดินทาง รับประทานอาหารนอกบ้าน ตามภัตตาคาร ร้านอาหารประเภท Fastfood หรือแม้แต่ซื้ออาหารสำเร็จรูปจาก Supermarket ร้านสะดวกซื้อ ตลาด และร้านข้างทาง กลับไปรับประทานที่ที่ทำงาน ที่บ้าน หรือสั่งอาหาร Delivery จากร้าน เนื่องจากมีเวลาน้อย และต้องการความสะดวก

Takeaway หรือ On-the -go กลายเป็นเทรนด์ใหม่ที่ได้รับการต้อนรับอย่างดีจากวัยรุ่น และคนทำงานรุ่นใหม่ ไม่ใช่เพียงบริการที่เร็ว และสะดวกเท่านั้น Takeaway หรือ On-the -go ยังเป็นไลฟ์สไตล์สมัยใหม่ที่สะท้อนให้เห็นความเป็นกลุ่มคนที่ทันสมัย มีฐานะ แม้ในอีกมุมมองหนึ่งจะดูเป็นการรีบเร่ง และไม่สุภาพที่จะเดินไปรับประทานไปก็ตาม บรรจุภัณฑ์ใส่อาหารสำหรับกลับไปรับประทานที่บ้าน หรือที่เรียกกันว่า Takeaway หรือ To-go Packaging รวมทั้งสำหรับรับประทานระหว่างทาง On-the-go Packaging ก็ดี จึงถือกำเนิดขึ้นมารองรับความต้องการ และอำนวยความสะดวกให้แก่ลูกค้าผู้บริโภคกันอย่างมากมายหลากหลายรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นเครื่องดื่ม อาหาร ขนม ของทานเล่น หรือ อาหารสำเร็จรูปที่เอื้ออำนวยความสะดวกในการรับประทาน

จากอดีตที่เราคุ้นเคย เมื่อซื้ออาหารกลับบ้าน แม่ค้าพ่อค้าจะห่ออาหารด้วยวัสดุพื้นบ้านที่หาได้ง่าย ๆ เช่น ใบตอง กระดาษ และนำมาห่อและรัดด้วยเชือกหรือไม้กลัด เมื่อกาลเวลาผ่านไปถุงพลาสติก ถุงกระดาษ กล่องกระดาษ กล่องพลาสติก กล่องโฟม ก็เข้ามาแทนที่ และเกิดการแข่งขันในเชิงการตลาดขึ้น บรรจุภัณฑ์ไม่เพียงแต่ทำหน้าที่ “หุ้มห่อ” และ “ปกป้อง” สินค้าเท่านั้น ยังต้องทำหน้าที่ให้ความสะดวกในการ “หิ้ว” “ใช้งาน” และ “ประชาสัมพันธ์” อีกด้วย ดังนั้นในปัจจุบันเราจึงพบเห็นบรรจุภัณฑ์ประเภทนี้ได้ทั่วไปทั้งในรูปของบรรจุภัณฑ์ธรรมดา ๆ ที่ใช้กันทั่ว ๆ ไป และบรรจุภัณฑ์เฉพาะร้านที่มีแบรนด์ของตนเองซึ่งช่วยในการสื่อสารกับผู้บริโภค ในขณะเดียวกันก็ช่วยสร้างเอกลักษณ์ และภาพลักษณ์ที่ดีให้แก่ร้านไปพร้อมๆกัน

รูปแบบบรรจุภัณฑ์ประเภทนี้ถูกพัฒนาโดยนักออกแบบบรรจุภัณฑ์อย่างต่อเนื่องภายใต้แนวคิดที่เน้นความสะดวก และง่ายในการใช้งาน การสร้างความโดดเด่น การนำไปใช้ใหม่ (Reuse) การใช้วัสดุที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ตลอดจนเทรนด์การดำรงชีวิตที่เปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา ดังจะเห็นได้จากตัวอย่างต่อไปนี้

บรรจุภัณฑ์ใส่อาหารกลับบ้านที่พบเห็นได้ทั่วไป ได้แก่ กระดาษห่อ ถุง ซอง กล่อง ซึ่งทำหน้าที่เป็นได้ทั้งภาชนะบรรจุอาหาร และภาชนะที่ใช้รับประทานอาหารไปในตัว เช่น กล่องใส่อาหารจีน มีหูหิ้ว และตะเกียบ ใช้รับประทานโดยตรงจากกล่อง เป็นที่นิยมกันทั่วโลก หรือกระดาษห่อแซนวิช และแฮมเบอร์เกอร์ที่พิมพ์โลโก้ และชื่อแบรนด์ของร้าน

Andrew Millar อดีตนักศึกษาจาก The London University of the Arts ได้พัฒนาบรรจุภัณฑ์ใส่อาหารกลับบ้านรูปแบบใหม่ให้กับร้านแมคโดนัล Millar ออกแบบโดยอาศัยข้อมูลจากผู้บริโภคที่มักจะฉีกถุงออกมารองอาหารขณะรับประทาน 

บรรจุภัณฑ์รูปแบบใหม่นี้ใช้กระดาษรีไซเคิลทำเป็นถุงที่สามารถคลี่ออกมาเป็นถาดอาหาร ภายในเป็นกระดาษ Greaseproof กันน้ำมัน และเป็นบรรจุภัณฑ์ซึ่งย่อยสลายได้เองโดยธรรมชาติ เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

บรรจุภัณฑ์ใส่อาหารกลับบ้านรูปแบบใหม่ของ DeliShop Takeaway ภายใต้แนวความคิด “Urban Picnic” ที่นำลวดลาย สี และ texture ของตะกร้าปิคนิค กระดาษเช็ดมือ และผ้าปูโต๊ะมาเป็นองค์ประกอบทางกราฟิก สร้างเอกลักษณ์ให้แก่บรรจุภัณฑ์ของร้าน โดยทำเป็นแถบกระดาษรัดรอบถาด หรือกล่องพลาสติกบรรจุอาหาร ลักษณะเด่นที่สำคัญคือ บาร์โค้ดที่วางเหนือชื่อแบรนด์ Delishop และการจัดวางองค์ประกอบทั้งหมด ที่ช่วยให้งานดูมีความเชื่อมโยงต่อเนื่องกัน ส่งผลให้บรรจุภัณฑ์มีความโดดเด่น และจดจำได้ง่าย ออกแบบโดยนักออกแบบชาวสเปญ Enric Aguilera Asociados เป็นการออกแบบที่ต้องการสื่อสารความสนุกสนาน และสะท้อนให้เห็นถึงวัฒนธรรมความเป็นอยู่ของชาวบาเซโลน่าได้เป็นอย่างดี

บรรจุภัณฑ์ Noo-Del ออกแบบโดยนักศึกษาชาวสวีเดน Helen Maria Bäckström ได้พัฒนามาจากกล่องใส่อาหารจีน โดยใส่ความน่ารัก และสนุกสนานด้วยการตกแต่งเป็นรูปเกอิชา มีตะเกียบไม้ทำหน้าที่เป็นปิ่นปักผม สามารถรับประทานจาก กล่องได้โดยตรง สร้างความโดดเด่นให้แก่บรรจุภัณฑ์ และแบรนด์สินค้าได้เป็นอย่างมาก

Popfish เป็นร้านอาหารญี่ปุ่นในริโอเดอจาไนโร บรรจุภัณฑ์ออกแบบโดย Daniel Neves ครีเอทีฟไดเร็คเตอร์ของบริษัท Dimaquina และ João Simi ครีเอทีฟไดเร็คเตอร์ของ Giosimi โดยได้แรงบันดาลใจมาจากการ์ตูนญี่ปุ่น และภาพลักษณ์ของโตเกียว เอกลักษณ์ที่โดดเด่นคือการใช้สีมาเจนต้าเป็นธีมหลักซึ่งสอดคล้องกับชื่อร้านคือ Popfish Magenta และใช้ เทคนิค Foil Stamping สีเงิน ชุดภาชนะและบรรจุภัณฑ์อาหารนี้ประกอบด้วยกล่องใส่บะหมี่ กล่องใส่ข้าวปั้นม้วน ซองตะเกียบ และแก้วน้ำเป็นต้น

บรรจุภัณฑ์ของศูนย์อาหาร Food City ในประเทศโครเอเชีย มีแนวคิดการออกแบบในเชิงระบบ Modular โดยให้บรรจุภัณฑ์แต่ละชิ้นสามารถแยกตัวและประกอบเข้ากันเป็นชุดรวมได้โดยไม่ต้องใช้กาว วัสดุที่ใช้คือกระดาษแข็งเคลือบโพลีเอทไทลีน ทุกชิ้นจึงสามารถใส่ของเหลวหรือซอสได้โดยไม่รั่วซึม ลักษณะเด่นคือเน้นการใช้งานตามความต้องการของผู้บริโภค 

เมื่อสั่งอาหารต่างประเภทกัน ก็เลือกใช้บรรจุภัณฑ์ที่เหมาะสมกับอาหารแต่ละประเภท ตัวอย่างเช่น กล่องใส่มันฝรั่งทอด กับซอสมะเขือเทศ และมายองเนส กล่องอาหาร และสลัด ที่สามารถประกอบติดกันได้ทั้งด้านซ้าย และขวา ลักษณะเด่นอีกอย่างคือ เป็นได้ทั้งบรรจุภัณฑ์ และถาดอาหารที่พร้อมใช้รับประทานได้เลย ออกแบบโดย Istragrafika ผู้ผลิตบรรจุภัณฑ์ชั้นนำของโครเอเชีย

“CookSoo” บรรจุภัณฑ์บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป Cup Noodle จากเกาหลี ที่มีแนวคิดในการจัดเก็บ พกพา ขนส่ง และกำจัด โดยการออกแบบให้กล่องมีขนาดเล็ก ประหยัดพื้นที่ในการจัดเก็บ น้ำหนักเบา สามารถพกพาได้สะดวก เมื่อต้องการใช้งาน ก็ดึงกล่องที่พับไว้ขึ้นมาเพื่อขยายขนาด เติมน้ำร้อน ปิดฝา ก็รับประทานได้เหมือนบะหมี่ถ้วยแบบปกติ ออกแบบโดยนักออกแบบชาวเกาหลี 4 คนคือ Junggeun Ahn, Jeongmi Lee, Hyunseok Moon และ Donghee Suh

Richard Macvicar นักศึกษากราฟฟิคดีไซน์จากอังกฤษ ได้เสนอแนวทางการออกแบบบรรจุภัณฑ์ takeaway สำหรับชุด อาหารจีน 2 ที่ โดยใช้ชื่อว่า Chi ซึ่งมีความหมายว่าการรับประทานอาหารที่บ้าน ในชุดประกอบด้วยบรรจุภัณฑ์สำหรับเป็ดปักกิ่ง และบะหมี่ผัดไก่ ตะเกียบ ส้อม และกระดาษเช็ดมือ อย่างละ 2 ที่ อาหารจะถูกบรรจุในกล่องพลาสติกใสปิดด้วยฝากระดาษ  และจัดเก็บรวมกันพร้อมอุปกรณ์ในกล่องใหญ่โดยสอดเข้าไปคล้ายลิ้นชัก ตกแต่งกราฟิกที่เรียบง่าย และสะอาดตาด้วยตัวอักษรจีน และแถบสีแดง

กล่อง Sushi-to-go โดย Ashley Buerkett นักออกแบบชาวอเมริกัน เป็นผลงานเมื่อครั้งเป็นนักศึกษาที่ Ringling College of Art and Design อิลลินอยส์ นำเสนอรูปแบบที่เรียบง่าย และสะดวกในการพกพา โดยใช้ตะเกียบทำหน้าที่แทนหูหิ้ว ซึ่งตามความเป็นจริงแล้ว อาจดูไม่เหมาะสมนักเนื่องจากเรื่องของสุขอนามัย ตะเกียบควรบรรจุอยู่ในซอง 

Nicole Osello นักออกแบบอุตสาหกรรมชาวอิตาลี เสนอแนวทางการออกแบบบรรจุภัณฑ์ที่มีชื่อว่า “Take & Walk” ให้แก่ Huhtamaki บริษัทผู้ผลิตบรรจุภัณฑ์อาหารรายใหญ่ของโลก โดยมีแนวคิดในการอำนวยความสะดวกในการถือห รือหิ้วบรรจุภัณฑ์อาหาร และเครื่องดื่ม ได้แก่ มันฝรั่งทอด (French Fries) และเครื่องดื่ม ซึ่งประกอบเข้าด้วยกัน และมีสายหิ้วคล้องข้อมือ ทำให้สามารถใช้เพียงมือเดียวในการพกพาโดยไม่หกเลอะเทอะขณะที่กำลังเดิน

บรรจุภัณฑ์อาหารสุนัข Top Paw นี้ เป็นผลงานการออกแบบโดย Benjamin Yi นักศึกษาสาขาการออกแบบผลิตภัณฑ์ จาก Art Center College of Design สหรัฐอเมริกา โดยพยายามแก้ปัญหาเรื่องการใช้งาน และพกพาสำหรับเจ้าของสุนัขที่ต้องการความสะดวกเมื่อพาสุนัขเดินทาง ตัวบรรจุภัณฑ์นี้ บรรจุอาหารได้เพียงพอสำหรับสุนัขได้ทั้งวัน ทำหน้าที่เป็นภาชนะบรรจุ และพกพาได้สะดวก กราฟิกบนตัวกล่องใช้สีเป็นตัวแบ่งแยกประเภทของอาหารอย่างชัดเจน

บรรจุภัณฑ์แนวสนุกสนานน่ารักกุ๊กกิ๊กต้องยกให้ญี่ปุ่น นักออกแบบมีมุมมองที่ละเอียดถี่ถ้วน คำนึงถึงการใช้งานในทุกแง่มุม ในที่นี้บรรจุภัณฑ์ขนมขบเคี้ยว Tsurete-kun ของแบรนด์ Pretz โดย Glico เป็นตัวอย่างที่ดียิ่ง นักออกแบบได้แรงบันดาลใจจากความหมายของคำว่า Tsurete iku ซึ่งแปลว่าการพาใครสักคนหนึ่งร่วมเดินทางไปด้วย ดังนั้นจึงเป็นที่มาของชื่อของสินค้า Tsurete-kun หรือ You’ll never walk alone ผู้บริโภคสามารถพกติดกระเป๋าไปได้ตลอดเวลาแม้ขณะเปิดกล่องแล้ว เนื่องจากด้านหน้าของบรรจุภัณฑ์จะทำ Diecut และปรุเป็นรูปขา 2 ขา สำหรับเกี่ยวกับตัวกระเป๋า ประหนึ่งมีสุนัขตัวน้อยร่วมเดินทางไปด้วยกับเจ้าของ

Israeli Designer Tal Marco นักออกแบบชาวอิสราเอล เสนอรูปแบบการใช้วัสดุธรรมชาติ ได้แก่ ใบตอง มาห่ออาหาร takeaway ซึ่งเขาเชื่อว่าสามารถพัฒนาเป็นบรรจุภัณฑ์ได้หลากหลายรูปแบบ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเหมาะสำหรับอาหารที่มีความมัน และเปียกเนื่องจากใบตองมีลักษณะพื้นผิวคล้ายการเคลือบแวกซ์ และสามารถใช้วิธี diecut ขึ้นรูปได้ง่าย ไม่ต้องใช้กาวในการประกอบ นอกจากนี้ยังเปิดง่ายด้วยการฉีกตามแนวเกรนของเส้นใบตามธรรมชาติ Marco ได้นำเสนอรูปแบบบรรจุภัณฑ์ต่าง ๆ อย่างหลากหลาย ในหัวข้อ “Dining in 2015” ของ Designboom โดยใช้ชื่อว่า Eco way-Ecological take away packages ซึ่งส่งผลให้วงการบรรจุภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมคึกคักไปตามๆกัน

ส่วนบรรจุภัณฑ์แนว Eco อีกแบบหนึ่งเป็นผลงานของนักศึกษาชาวแคนาดา Homer Mendoza จาก Montreal นำเสนอบรรจุภัณฑ์สำหรับกาแฟ takeaway ซึ่งใช้ชื่อแบรนด์ว่า Pit-Stop Café สามารถหิ้วกาแฟได้ทีเดียว 4 แก้ว พร้อมซองครีม และน้ำตาล โดยทำเป็นรูปคล้ายกระเป๋า ด้านล่างเจาะรูสำหรับใส่ถ้วยกาแฟ ตัวกล่องด้านบนเป็นมือจับสำหรับหิ้ว  การออกแบบทั้งหมดคำนึงถึงความประหยัดและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมด้วยการใช้กระดาษแข็งรีไซเคิลเพียง 1 แผ่น ไม่มีการพิมพ์หมึกสีใด ๆ แต่ใช้การพิมพ์นูนไร้สี (Blind embossed) เป็นการตอกย้ำถึงความเป็น Green Product ได้อย่างชัดเจนยิ่ง

ตัวอย่างสุดท้ายเป็นแนวคิดการออกแบบบรรจุภัณฑ์ to-go รูปแบบใหม่ล่าสุด คิดค้นโดยเกาหลีใต้ผู้นำด้านเทคโนโลยีอาหารฟาสต์ฟู้ด ได้ออกแบบบรรจุภัณฑ์ให้แก่ร้านอาหาร BBQ Chicken (Best of the Best Quality Chicken) ซึ่งขายไก่ทอดชื่อดัง และมี franchise ไปทั่วโลก รวมทั้งสหรัฐอเมริกา ซึ่งวิถีชีวิตของชาวอเมริกันนั้นเต็มไปด้วยความรีบเร่ง และต้องการความสะดวกสบายเป็นอย่างยิ่ง บรรจุภัณฑ์รูปแบบใหม่นี้มีชื่อว่า “The Col-Pop” ซึ่งออกแบบขึ้นภายใต้แนวคิดที่ต้องการรวมไก่ทอดชิ้นเล็ก ได้แก่ นักเก็ตไก่และไก่ป๊อบ กับเครื่องดื่มประเภทโคล่าเข้าด้วยกัน ทั้งนี้โดยใส่ไก่ไว้ข้างบน และโคล่าไว้ข้างล่าง ข้างๆมีรูสำหรับเสียบหลอดดูด สามารถถือรับประทานไปพร้อม ๆ กันในขณะเดิน ขับรถ หรือใช้โทรศัพท์มือถือ โดยใช้เพียงมือเดียว นอกจากนี้ร้านอาหารลูกข่ายอย่าง BHC Chicken ยังนำไปต่อยอดใช้ใส่อาหารประเภทสปาเก็ตตี้ เฟรนช์ ฟราย และมอซซาเรลลาบอล อีกด้วย

ตัวอย่างบรรจุภัณฑ์ทั้งหมดนี้สะท้อนให้เห็นแนวทางการออกแบบที่อาศัยเทคโนโลยี และความคิดสร้างสรรค์ ซึ่งเป็นการออกแบบที่เน้นการใช้งาน และสร้างความแตกต่างให้กับสินค้า ให้มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว มีวิธีคิดแบบนอกกรอบ ไม่ยึดติดรูปแบบเดิม เกิดเป็นรูปแบบบรรจุภัณฑ์หรือสินค้าใหม่ๆ ที่มีประโยชน์ต่อการใช้งานมากขึ้น โดยผสมผสานระหว่างวัสดุ ประโยชน์ใช้สอยในการใช้งาน กลยุทธ์ทางการตลาด ตลอดจนแนวคิดในการมีส่วนรวมต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม อันเป็นหนึ่งในกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนสนับสนุนการพัฒนาเศรษฐกิจสร้างสรรค์ และร่วมผลักดันให้เศรษฐกิจของประเทศก้าวหน้าได้อย่างต่อเนื่อง 

ขอขอบคุณภาพประกอบจาก  http://designhey.com  , http://macvicar.tumblr.com ,  http://packaginguqam.blogspot.com , http://www.andrew-millar.com,  http://www.ashleybuerkett.com , http://www.seriouseats.com , http://www.thedieline.com , http://www.yankodesign.com

#ThaiPDA #Package #TakeawayPackage #TakeAway

Picture of ผศ. โสมภาณี ศรีสุวรรณ

ผศ. โสมภาณี ศรีสุวรรณ

Leave a Comment

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

Scroll to Top