
บรรจุภัณฑ์คิดใหม่ทำใหม่ New Design Packaging
เรื่อง : ผศ.โสมภาณี ศรีสุวรรณ
“ บรรจุภัณฑ์ที่ออกแบบมาใหม่ๆ ระยะแรกๆนั้นมักจะสร้างความสับสนในตัวสินค้า และทำร้ายตราสินค้าได้เสมอๆ แต่หากว่าบรรจุภัณฑ์นั้นออกแบบมาแล้ว “ใช่” ก็จะได้รับผลตอบกลับอย่างคุ้มค่ามหาศาล แม้จะเป็นเพียงฉลากสินค้าดีๆสักอันหรือภาชนะบรรจุรูปโฉมใหม่ก็สามารถที่จะทำยอดขายให้ทะลุเป้าได้ไม่ยาก…”
ซูซานนา แฮมเนอร์, นิตยสาร Business 2.0
จากวันนั้นถึงวันนี้ ผลิตภัณฑ์สินค้าที่มีวางจำหน่ายในท้องตลาดโดยเฉพาะสินค้าอุปโภคบริโภคมีปริมาณเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ทั้งสินค้าใหม่ ๆ สินค้าแบรนด์เดิมปรับปรุงใหม่ที่เกิดขึ้นอย่างหลากหลายแทบทุกวัน เป็นเหตุให้บรรจุภัณฑ์สินค้าคู่แข่งต่าง ๆ ต้องมีการพัฒนาปรับเปลี่ยนรูปโฉมเพื่อสร้างความโดดเด่น และแตกต่างจากสินค้าตัวใหม่เหล่านี้ ไม่ว่าจะเป็นการปรับเปลี่ยนตราสินค้า ชื่อผลิตภัณฑ์ ชื่อแบรนด์ การปรับรูปแบบภาพลักษณ์ ขนาด-รูปทรงของบรรจุภัณฑ์ การเปลี่ยนลักษณะ หรือวิธีการใช้งาน เป็นต้น ซึ่งอาจเป็นการปรับเปลี่ยนเพียงเล็กน้อย หรือเปลี่ยนโฉมโดยสิ้นเชิงเลยก็เป็นได้ เพียงเพื่อต้องการกระตุ้นยอดขาย สร้างทัศนคติที่ดีต่อสินค้าและสร้างความพึงพอใจและประทับใจให้แก่ผู้บริโภค ในขณะเดียวกันสังคมผู้บริโภค และพฤติกรรมของผู้บริโภคเองนั้นก็มีการเปลี่ยนแปลงเช่นกัน วิถีการดำรงชีวิต วัฒนธรรม รสนิยมที่เปลี่ยนไป กระแสความนิยมและการให้ความสนใจในการรักษาสิ่งแวดล้อม ตลอดจนความก้าวหน้าของเทคโนโลยีการผลิต ไม่ว่าจะเป็นวัสดุใหม่ ๆ หรือกระบวนการผลิตที่มีประสิทธิภาพสูงขึ้น ล้วนแล้วแต่มีผลกระทบโดยตรงต่อการตัดสินใจเลือกซื้อสินค้าของผู้บริโภคทั้งสิ้น
ดังนั้นไม่ว่าจะเป็นสินค้าใหม่ แบรนด์ใหม่ที่ต้องการวางตลาดเป็นครั้งแรก หรือสินค้าเก่าที่มีการปรับเปลี่ยนตัวสินค้า เพิ่มรสชาติ กลิ่น หรือสินค้าที่ไม่มีการปรับเปลี่ยนใด ๆ แต่ปรับขนาด ปริมาณบรรจุ ล้วนแล้วแต่ต้องการบรรจุภัณฑ์ใหม่ เพื่อสื่อสารกับผู้บริโภคให้ตระหนักเห็นความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น และ message ที่ต้องการจะ “ส่งตรง” ถึงผู้บริโภค เป็นบรรจุภัณฑ์ที่ต้องคิดใหม่ทำใหม่ ต้องมีแนวคิดใหม่ ๆ ต้อง “สร้างความแตกต่าง” จากบรรจุภัณฑ์เดิม และบรรจุภัณฑ์ของสินค้าคู่แข่งให้เห็นได้อย่างชัดเจน ซึ่งจะต้องสามารถ “สร้างความประทับใจ” ต้องให้ผู้ซื้อเห็นแล้ว อึ้ง ทึ่ง และตกหลุมรักสินค้านั้น ๆ ได้ในทันทีที่เห็น เนื่องจากผู้ซื้อมากกว่า 80% ตัดสินใจซื้อ ณ จุดขายเพียงเพราะความประทับใจเมื่อแรกเห็นสินค้านั้น ๆ มากกว่าความเป็นแบรนด์ที่มีชื่อเสียง และส่วนหนึ่งก็มิใช่พวกที่มีความภักดีต่อสินค้าแบรนด์ใดแบรนด์หนึ่ง ซึ่งพร้อมที่จะลองของใหม่ได้ทุกเมื่อ
รูปแบบของบรรจุภัณฑ์จึงมีความสำคัญยิ่งนักในการสร้างคุณค่า ความแตกต่าง และส่งผลดีต่อภาพลักษณ์ของแบรนด์สินค้า ช่วยเป็นเครื่องมือในการตัดสินใจเลือกซื้อสินค้าของผู้ซื้อ นักการตลาด และนักออกแบบมองเห็นว่าปัจจัยดังกล่าวข้างต้นเป็นโจทย์ที่ท้าทายอย่างยิ่งในการออกแบบบรรจุภัณฑ์ให้ตอบสนองความต้องการของตลาด และผู้บริโภคยุคใหม่ ที่จะต้องสร้างเอกลักษณ์ให้แก่แบรนด์สินค้าที่หลากหลาย ต้องสร้างมูลค่าเพิ่ม และจุดขายให้แก่สินค้าผ่านการนำเสนอเรื่องราว และจุดเด่นของสินค้าบนบรรจุภัณฑ์ และจะต้องตอบสนองในเรื่องความสะดวกในการใช้งาน และราคาสินค้าได้ด้วย
11 กลยุทธ์การออกแบบรรจุภัณฑ์คิดใหม่ทำใหม่
แนวทางในการออกแบบเพื่อปรับเปลี่ยนโฉมบรรจุภัณฑ์หรือคิดใหม่ทำใหม่นั้น สามารถทำได้หลากหลายแนวทาง ซึ่งผู้ออกแบบต้องกำหนดกลยุทธ์การออกแบบที่มีจุดเด่นของแนวคิดให้ชัดเจนเพื่อเป็นแนวทางในการพิจารณาออกแบบปรับเปลี่ยนรูปโฉมใหม่และสร้างจุดเด่นให้แก่บรรจุภัณฑ์
- เกาะกระแสบรรจุภัณฑ์สีเขียว
ปัจจุบันใคร ๆ ก็ให้ความสำคัญต่อปัญหาสิ่งแวดล้อมเป็นอันดับต้น ๆ บรรจุภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม จึงเป็นการแก้ปัญหาที่อินเทรนด์มากที่สุดทางหนึ่ง โดยการเลือกใช้วัสดุบรรจุภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม สามารถนำไปรีไซเคิลหรือย่อยสลายได้เองตามธรรมชาติ หรือนำกลับไปใช้ใหม่ ในส่วนของรูปแบบ นักออกแบบก็สามารถที่จะเลือกออกแบบรูปทรงให้เหมาะสมเพื่อช่วยลดปริมาณขยะ และนำไปใช้ประโยชน์อื่น ๆ ได้อีก
ภาพที่ 1a : กล่องขนมขบเคี้ยว DORITOS ที่ออกแบบมาให้มีโครงสร้างที่แข็งแรง สามารถปกป้องขนมจากการแตกหักเสียหายระหว่างการขนส่ง และจัดจำหน่าย และสามารถพับเพื่อทำหน้าที่เก็บขนมเมื่อยังทานไม่หมด หรือพับลดขนาดลงได้เมื่อทานขนมหมดแล้ว เพื่อเป็นการลดปริมาณขยะ ออกแบบโดย Petar Pavlov ประเทศมาซิโดเนีย
ภาพที่ 1b : กล่องรองเท้า PUMA มีแนวคิดเรื่อง Reuse, Reduce, Recycle ที่ชัดเจนมาก โดยสามารถใช้ประโยชน์กล่องได้หลากหลาย เป็นได้ทั้งกล่องเก็บรองเท้า ถุงผ้าเก็บรองเท้า ถุงผ้าชอปป้ิง ภายใต้คอนเซ็ปต์ “Clever Little Bag” โดยใช้โครงสร้างแบบง่ายๆ ที่ประหยัดวัสดุด้วยการลดการใช้กระดาษไปได้ถึง 8,500 ตัน ลดปริมาณคาร์บอนฟุตพริ้นท์ และลดการใช้น้ำและพลังงานระหว่างกระบวนการผลิต อีกทั้งยังมีรูปลักษณ์ที่สวยงามน่าใช้อีกด้วย ออกแบบโดย Yves
ภาพที่ 1c : บรรจุภัณฑ์เครื่องดื่ม DUMBBELL Sports Drink โดยนักออกแบบชาวจีน Le Jin ที่เล็งเห็นถึงการใช้งานบรรจุภัณฑ์ให้เป็นประโยชน์อื่น ๆ นอกเหนือไปจากบทบาทของการบรรจุสินค้า ขวดเครื่องดื่มชนิดนี้ใช้เป็นอุปกรณ์การออกกำลังได้อย่างดียิ่ง และทำหน้าที่ได้ดีไม่แพ้ Dumbbell จริง ๆ เลย
- เพิ่มความพิเศษให้แก่บรรจุภัณฑ์
บางครั้งการเลือกประเภทของภาชนะบรรจุรูปทรงพิเศษ สะดุดตา มักมีข้อจำกัดด้านต้นทุน และการผลิต ทำให้ภาชนะบรรจุรูปทรงมาตรฐานเป็นที่นิยมกันโดยทั่วไป สินค้าประเภทเดียวกันก็มักเลือกใช้ภาชนะบรรจุรูปทรงเดียวกัน หรือใกล้เคียง ทำให้ต้องสร้างความแตกต่างกันด้วยฉลากบรรจุภัณฑ์อย่างสุดฤทธิ์สุดเดชเพื่อความโดดเด่นของสินค้า หรือลองพิจารณาการเพิ่มความพิเศษให้แก่บรรจุภัณฑ์ก็จะสามารถแก้ปัญหานี้ได้ไม่ยาก
ภาพที่ 2a : บรรจุภัณฑ์สเปรย์หอมปรับอากาศ TRUE ที่นอกจากจะใช้ภาพที่สวยงามดึงดูดสายตา และสื่อสารกับผู้บริโภคได้ดีแล้ว Berik Yergaliyev ผู้ออกแบบยังเพิ่มความพิเศษให้แก่บรรจุภัณฑ์โดยการใช้ฝายางนุ่มๆแทนพลาสติคแข็ง ๆ เพื่อสร้างความรู้สึกประทับใจในการสัมผัสประดุจได้สัมผัส ผลสตรอเบอร์รี่ มะนาว และไอศกรีมจริงๆ
ภาพที่ 2b : ฉลากขวดกาแฟเย็น One Tree จากออสเตรเลียที่ดูแล้วก็น่าจะธรรมดา แต่ความพิเศษที่นักออกแบบบรรจงบรรจุลงไปก็คือ การใช้บรรจุภัณฑ์ขวดแก้วเลียนแบบผลิตภัณฑ์เบียร์ และฉลากซึ่งล้อกับรูปแบบของตั๋วรถไฟ เนื่องจากเป็นสินค้าที่ใช้รถไฟในการขนส่ง แต่สิ่งที่พิเศษที่สุดคือ ฉลากนั้นสามารถเขียนรายละเอียดการปรุงรสกาแฟแต่ละชนิดลงไปได้โดยพนักงานขาย เป็นการประหยัดการพิมพ์ฉลากที่หลากหลายและสร้างจุดเด่นให้กับสินค้าไปในตัว ออกแบบโดย Boheem บริษัทออกแบบในซิดนีย์
- ให้ Design เป็นพระเอกของบรรจุภัณฑ์
ปกติแล้วผู้บริโภคมักให้ความสำคัญต่อสินค้าเป็นอันดับต้น ๆ บรรจุภัณฑ์เป็นอันดับรองลงไป คงต้องคิดใหม่แล้ว เพราะบรรจุภัณฑ์บางชนิดก็สามารถสร้างความโดดเด่นเกินหน้าเกินตาสินค้าด้วยรูปโฉมที่สวยงามน่าใช้ สร้างความประทับใจเมื่อแรกเห็น และตลอดการใช้งานได้เป็นอย่างดี เช่น
ภาพที่ 3a : กลุ่มผลิตภัณฑ์แบรนด์ method ไม่ว่าจะเป็นสบู่เหลว น้ำยาล้างจาน สบู่ล้างมือ ฯลฯ มีการออกแบบบรรจุภัณฑ์ได้สวยงามน่าใช้ ที่ใคร ๆ เห็นแล้วเป็นต้องชื่นชอบ ขวดแต่ละชนิดมีความเป็นเอกลักษณ์ของตนเอง และของแบรนด์ method เมื่อตั้งวางในห้องครัว-ห้องน้ำ ก็ไม่ต้องคอยแอบซ่อนอีกต่อไป เป็นสิ่งประดับตกแต่งห้องได้อย่างเก๋ไก๋ทีเดียว
ภาพที่ 3b : สินค้าเสื้อยืด เฮียสด (Here! Sod) โดยทีมนักออกแบบ Prompt Design จากประเทศไทยที่กวาดรางวัลมาแล้วอย่างมากมายจากเวทีการประกวดออกแบบบรรจุภัณฑ์ต่างๆ ซึ่งจะเห็นได้ว่าเสน่ห์ของ Design ในบรรจุภัณฑ์ชิ้นนี้อยู่ที่ความแรงและโดดเด่นมากๆของแนวคิด
นักออกแบบกล้าที่จะใช้ธีมที่ฉีกออกไปจากแนวคิดเดิม ๆ เข้าใจใช้ลูกเล่นของอาหารที่เราคุ้นเคยกันดีเป็นกลยุทธ์ในการนำเสนอบรรจุภัณฑ์ได้อย่างแยบยล เป็นบรรจุภัณฑ์ที่โดนใจผู้บริโภคได้เต็มๆ
- ดูดี ๆ มี Function
บรรจุภัณฑ์ส่วนใหญ่ออกแบบมาเพื่อรับบทบาทพื้นฐานของบรรจุภัณฑ์คือ บรรจุ ปกป้อง ขนส่ง โดยไม่ได้ครอบคลุมถึงการใช้งานของผู้บริโภคที่มีพฤติกรรมการใช้งานในลักษณะต่าง ๆ กัน ดังนั้นในการวางกลยุทธ์ เพื่อสร้างความแตกต่างให้กับบรรจุภัณฑ์ นักออกแบบจึงควรพิจารณาพฤติกรรมการใช้งานของผู้บริโภคอย่างลึกซึ้ง เพื่อแทรก Function พิเศษ หรืออำนวยความสะดวกในการใช้งานให้เป็นรูปธรรมมากขึ้น อันจะเป็นแม่เหล็กดึงดูดใจผู้บริโภคได้มากขึ้น
ภาพที่ 4a : ผลิตภัณฑ์ Wash one คือคำตอบสำหรับใครหลายคนที่มักจะต้องเดินทางเป็นประจำ การออกแบบบรรจุภัณฑ์สินค้าประเภทแชมพู สบู่ล้างหน้า-ล้างมือ-อาบน้ำ โลชั่น หรือแม้แต่ยาสีฟันที่บรรจุอยู่ในแคปซูลเล็ก ๆ เลียนแบบยา ซึ่งรองรับการใช้งานในแต่ละครั้ง โดยสามารถแยกบรรจุภัณฑ์ออกเป็นชิ้น ๆ ที่เอื้อต่อการพกพา และสะดวกในการใช้งาน ออกแบบโดยนักออกแบบชาวจีน Se Jun Lee
ภาพที่ 4b : กล่องนมที่สามารถบอกวันหมดอายุของนมได้ โดยการเปลี่ยนสีบรรจุภัณฑ์ นับเป็นนวัตกรรมใหม่ของการออกแบบบรรจุภัณฑ์เลยทีเดียว เมื่อซื้อนมมาใหม่ ๆกล่องจะเป็นเพียงสีขาวล้วน แต่เมื่อเวลาผ่านไปจะปรากฏสีขึ้นจากด้านล่างของกล่องขึ้นไปเรื่อย ๆ จนเต็มกล่อง ซึ่งเป็นตัว บ่งบอกว่านมนั้นหมดอายุแล้ว บรรจุภัณฑ์นี้ยังเป็นแค่แนวคิดของนักออกแบบ Ko Yang ซึ่งคาดว่าคงจะมีวางตลาดในอนาคตอันใกล้นี้
- สรรหาแรงบันดาลใจจากธรรมชาติ
ธรรมชาติยังอยู่ในใจของนักออกแบบมาเสมอ นับเป็นแรงบันดาลใจที่ดีมาก ๆ ทางหนึ่ง ธรรมชาติสร้างบรรจุภัณฑ์ได้อย่างน่าทึ่ง สวยงาม และมีประสิทธฺภาพดีเยี่ยม ไม่ว่าจะเป็นเปลือกที่ห่อหุ้มผักผลไม้ เช่น กล้วย ฝักถั่ว หรือถุงหน้าท้องสัตว์ประเภทจิงโจ้ ดังนั้นจึงไม่แปลกที่นักออกแบบจะอาศัยแรงบันดาลใจจากธรรมชาติมาสรรค์สร้างบรรจุภัณฑ์เพื่อสร้างความน่าสนใจ และเพื่อสื่อสารถึงสินค้าได้ในเวลาเดียวกัน
ภาพที่ 5a : ผลิตภัณฑ์นมสด และชีสจากฟาร์ม Nezinscot โดย Lindsay Perkins มีแนวคิดที่ต้องการสะท้อนให้เห็นการผลิตสินค้า และการทำเกษตรกรรมแนวธรรมชาติที่ใช้กระบวนการผลิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม โดยออกแบบให้อยู่ภายใต้คอนเซ็ปต์ที่ว่า “The grass is greener on our side” มีการจัดวางตัวอักษรให้พลิ้วเหมือนหญ้า ใช้กระดาษที่ทำมาจากเมล็ดหญ้าซึ่งสามารถย่อยสลายได้เองตามธรรมชาติ
ภาพที่ 5b : อุปกรณ์ในครัวแบรนด์Scanwood จากเดนมาร์กชุดนี้ ทำด้วยไม้ธรรมชาติล้วนๆ และใช้กระบวนการผลิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม นักออกแบบจึงพยายามที่จะสื่อสารแนวคิดนี้โดยการแสดงภาพที่ดูเหมือนผลิตภัณฑ์เหล่านี้เกิดและเติบโตขึ้นตามธรรมชาติ ภายใต้คอนเซ็ปต์ว่า “Design in Denmark, Made by Nature” ออกแบบโดยนักออกแบบจาก Goodmorning Technology
ภาพที่ 5c : เมื่อ Smirnoff ออกผลิตภัณฑ์ใหม่ภายใต้ชื่อ “Caipiroska” เป็นวอดก้ารสชาติผลไม้ต่างๆ ได้แก่ มะนาว สตรอเบอร์รี่และแพสชั่นฟรุ๊ต โดยมอบให้ JWT ประเทศบราซิลเป็นผู้ออกแบบบรรจุภัณฑ์ส่งเสริมการขาย ซึ่งผู้ออกแบบได้เลียนแบบลักษณะของผลไม้เหล่านั้น โดยการออกแบบกระดาษหุ้มขวดตามผิวและสีของผลไม้แต่ละชนิด และปรุกระดาษหุ้มขวดให้สามารถที่จะฉีกหรือลอกออกมาได้คล้ายการปอกผลไม้ สร้างความสะดุดตา ประทับใจ และการจดจำผลิตภัณฑ์ได้เป็นอย่างดี
- สร้างสรรค์อารมณ์สนุกให้แก่บรรจุภัณฑ์
บรรจุภัณฑ์ที่ให้อารมณ์สนุกสนานไม่จำเป็นต้องจำกัดแค่สินค้าสำหรับเด็กเท่านั้น ในปัจจุบันจะเห็นบรรจุภัณฑ์แนวนี้ในสินค้าสำหรับผู้ใหญ่ และสินค้าทั่วๆไปมากขึ้น เป็นการสร้างเอกลักษณ์ให้แก่สินค้า และสร้างรอยยิ้ม ความพึงพอใจให้แก่ผู้ซื้อขณะที่กำลังตัดสินใจเลือกซื้อได้ดี
ภาพที่ 6a : ขนมคุกกี้รสช็อกโกแลตจากญี่ปุ่น อาศัยความฟูประกอบกับ texture ของขนมกับทรงผม Afro ของคนอเมริกันผิวดำ มาเป็นลูกเล่นในการนำเสนอบรรจุภัณฑ์สนุก ๆ ที่สามารถสร้างความประทับใจได้ดีเมื่อแรกเห็น และเมื่อทานขนมหมด


ภาพที่ 6b : บรรจุภัณฑ์ขนมขบเคี้ยวใหม่แบรนด์ Krc&Ko. (Crunch&Co.) ซึ่งคำว่า “Krc” มีความหมายถึงตัวการ์ตูนคาร์แรกเตอร์ที่กำลังมีความสุขในการรับประทานขนมด้วยความสนุกสนาน ส่วนคำว่า “Co.” นั้นมาจากคำว่า company ซึ่งหมายถึงเพื่อน ๆ ของ Krc แต่ละตัวทีทำหน้าที่เป็นพรีเซ็นเตอร์ของขนมแต่ละชนิด เช่น ขนมปังแครกเกอร์รสชาติต่าง ๆ ขนมปังเคลือบช็อกโกแลต ข้าวโพดคั่ว เป็นต้น สร้างความน่ารักและอารมณ์สนุกสนานได้ดี ออกแบบโดยนักออกแบบชาวเซอร์เบีย Peter Gregson
ภาพที่ 6c : บรรจุภัณฑ์น้ำผลไม้นี้เป็นเพียงแนวคิด (concept package) โดย Mats Ottdal นักออกแบบกราฟฟิคชาวนอร์เวย์ ที่สร้างความสนุกสนานด้วยตัวกล่องบรรจุภัณฑ์รูปนกชนิดต่าง ๆ ที่สามารถผันมาเป็นของเล่นสนุก ๆให้แก่เด็ก ๆ ได้
- เพิ่มบรรยากาศด้วยสีสัน
บทบาทของสีบนบรรจุภัณฑ์นั้นมิใช่เพียงแค่ใช้แยกแยะชนิด ประเภท รสชาติ กลิ่น หรือส่วนผสมของผลิตภัณฑ์เท่านั้น บางครั้งเราใช้สีเพื่อสื่อความหมายถึง mood หรืออารมณ์ต่าง ๆ บางครั้งใช้สีเพื่อเรียกร้องความสนใจ หรือสร้างความแตกต่างให้กับสินค้าเมื่อเปรียบเทียบกับสินค้าคู่แข่ง โดยจะต้องเข้าใจเลือกสี และคู่สีที่มีความเหมาะสมสอดคล้องกับลักษณะของผลิตภัณฑ์ที่บรรจุ เพื่อช่วยส่งเสริมภาพลักษณ์ของผลิตภัณฑ์นั้น ๆให้โดดเด่น สะดุดตา ยิ่งขึ้น
ภาพที่ 7a : บรรจุภัณฑ์ขนมปังแบรนด์ Fazer Vilpuri จากฟินแลนด์ โดยทีมนักออกแบบจากเฮลซิงกิ Hasan & Partners ที่ใช้คอนเซ็ปต์ “Monster Bread” สร้างอารมณ์สนุกสนานด้วยภาพกราฟฟิค การวางตัวอักษร และสีสัน ที่ไม่ได้สื่อสารถึงผลิตภัณฑ์แต่อย่างใด เพียงเพื่อต้องการให้สะดุดตาโดดเด่น ไม่เหมือนใคร เมื่อวางจำหน่ายในซุปเปอร์มาร์เก็ตแข่งกับผลิตภัณฑ์ขนมปังแบรนด์อื่น ๆ
ภาพที่ 7b : ผลิตภัณฑ์เครื่องดื่มประเภทแอลกอฮอลผสมน้ำผลไม้แบรนด์ใหม่ของสวีเดน ที่สร้างอารมณ์ทันสมัย ด้วยสีสันที่สดใส แทนสีของผลไม้ที่เป็นส่วนผสมในเครื่องดื่มนั้นๆ เช่น แก้วมังกรผสมกับแอปเปิ้ลใช้โทนสีเขียวกับชมพูมาเจนต้าของเปลือกแก้วมังกร สตรอเบอร์รี่ผสมกับแทนเจลโล (ส้ม+เกรปฟรุ๊ต) ใช้โทนสีชมพู เหลือง และม่วง สอดคล้องกับวิถีการใช้ชีวิตของคนหนุ่มสาวยุคใหม่ทางยุโรปตอนเหนือได้อย่างลงตัว
- อาศัยเสน่ห์แห่งภาษาภาพ ตัวอักษร และสัญลักษณ์
สร้างความแตกต่างด้วยการใช้องค์ประกอบการออกแบบอย่างสร้างสรรค์ ได้แก่ ภาพ ตัวอักษร และสัญลักษณ์ โดยกำหนดบทบาทใหม่ให้แก่องค์ประกอบเหล่านี้ อาศัยลูกเล่น และการจัดวางองค์ประกอบแนวทางใหม่ ๆ เพื่อสร้างความน่าสนใจให้แก่บรรจุภัณฑ์
ภาพที่ 8a : Sullivan Street Bakery เป็นร้านเบเกอรี่ที่เก่าแก่และมีชื่อเสียงโด่งดังของนิวยอร์ค ได้มอบหมายให้สตูดิโอ Hyperakt เป็นผู้ออกแบบ ปรับเปลี่ยนบรรจุภัณฑ์ใหม่สำหรับกลุ่มสินค้าทั้งหมดในร้าน ตั้งแต่ขนมปังแบบต่าง ๆ แป้งทำขนมปัง ตลอดจนส่วนผสมอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง โดยจะต้องสามารถรองรับได้ทั้งผลิตภัณฑ์ดั้งเดิมและผลิตภัณฑ์ใหม่ๆที่จะเกิดขึ้นมาในอนาคตได้ นักออกแบบเลือกองค์ประกอบพื้นๆเช่น ภาพถ่าย แต่สร้างความแตกต่างด้วยเนื้อหาของภาพที่แสดงวิธีการนวดแป้งแบบต่างๆ รวมทั้งการใช้ตัวอักษรเรียบ ๆ แต่จัดวางด้วยสัดส่วน และจังหวะที่ลงตัว
ภาพที่ 8b : บรรจุภัณฑ์ยาสีฟันแบรนด์ DeliPlus ออกแบบโดย Lavernia & Cienfuegos จากสเปน ที่สร้างความแตกต่างจากคู่แข่งด้วยการใช้ตัวอักษรล้วนๆ แยกแยะชนิดของยาสีฟัน โดยมีจุดเด่นที่การวาง ตัวอักษรให้ซ้อนทับกัน ใช้คู่สีเข้ม-อ่อนที่ต่างกัน และใช้ลูกเล่นความโปร่งของตัวอักษรและสี สร้างเอกลักษณ์เฉพาะตัวให้กับแบรนด์และกลุ่มสินค้าอื่นๆในแบรนด์ เช่น น้ำยาบ้วนปาก เป็นต้น
ภาพที่ 8c : Morse Code Padthaway ผลิตภัณฑ์ไวน์จากออสเตรเลีย ออกแบบโดย Parallax Design เจาะจงใช้สัญลักษณ์รหัสโทรเลข (Morse code) ซึ่งเป็นชื่อแบรนด์อยู่แล้ว เป็นตัวบ่งบอกชนิดต่างๆของไวน์ แม้จะไม่เป็นที่เข้าใจของผู้บริโภคทั่วไป แต่ก็เป็นการสร้างแนวคิดที่น่าสนใจอย่างยิ่ง
- เจาะจง Design ที่เหมาะสมกับกลุ่มเป้าหมายเฉพาะ
ผลิตภัณฑ์บางอย่างออกแบบมาเพื่อผู้บริโภคกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งโดยเฉพาะ ดังนั้นการออกแบบบรรจุภัณฑ์ ก็จำเป็นที่จะต้องเน้นไปที่ผู้บริโภคกลุ่มนั้นด้วยเช่นกัน เพื่อเป็นการสื่อสารได้ตรงจุดประสงค์ที่ผู้บริโภคต้องการ โดยที่ผู้ออกแบบต้องเข้าใจพฤติกรรมการใช้ชีวิต การใช้งานผลิตภัณฑ์ ตลอดจนรสนิยมของผู้บริโภคกลุ่มนี้เป็นอย่างดี จึงจะสามารถออกแบบบรรจุภัณฑ์ให้โดนใจผู้บริโภคได้

ภาพที่ 9a : ผลิตภัณฑ์ Core Power เป็นเครื่องดื่ม Sports drink เจ้าแรกที่ใช้นมสดธรรมชาติเป็นส่วนผสม ไม่ใช้นมผงหรือโปรตีนผงเหมือนแบรนด์ทั่วๆไป มีรสชาติหลากหลาย โดยเน้นสำหรับกลุ่มผู้บริโภคที่ใส่ใจในสุขภาพและพึงพอใจในรสชาติ ตลอดจนสรรพคุณและสัดส่วนของส่วนผสมที่เชื่อถือได้ นักออกแบบจึงต้องเน้นในชื่อของแบรนด์ที่ใช้ตัวอักษรขนาดใหญ่ อ่านง่าย และเน้นปริมาณของโปรตีนพร้อมๆไปกับส่วนผสมหลักของแต่รสชาติ ออกแบบโดยทีมนักออกแบบจากสหรัฐอเมริกา

ภาพที่ 9b : บรรจุภัณฑ์ขนมปัง Kohberg จากเดนมาร์ก ซึ่งจัดทำขึ้นเป็นพิเศษ เพื่อร่วมสมทบทุนโครงการรณรงค์ต่อสู้โรคมะเร็งเต้านม และบริจาคเงินส่วนหนึ่งที่ได้จากการขายขนมปังนี้ให้แก่สมาคมโรคมะเร็งเต้านมแห่งเดนมาร์ก กลุ่มเป้าหมายคือประชาชน ผู้บริโภคทั่วไปที่ใส่ใจการดูแลสุขภาพและสนใจร่วมโครงการ ซึ่งส่วนใหญ่นั้นเป็นสุภาพสตรี บรรจุภัณฑ์จึงออกแบบล้อเลียนเสื้อชั้นในสตรี (Bra) สีชมพู โดยภายในบรรจุขนมปังไรน์ที่ทำเป็นก้อนกลม ๆ คล้ายเต้านม ได้รับความสนใจจากกลุ่มเป้าหมายมากเป็นพิเศษ เพราะนอกจากจะสามารถสื่อสารได้ตรงประเด็นแล้ว ยังเป็นบรรจุภัณฑ์ที่มีความสวยงาม และแฝงความสนุกสนานไปด้วยในตัว ออกแบบโดยทีมนักออกแบบจาก Envision
- รวบ 2-3 แนวคิดมาเป็นหนึ่งในบรรจุภัณฑ์เดียวกัน
บางครั้งการออกแบบบรรจุภัณฑ์ที่มีแนวคิดเพียงอย่างเดียวอาจจะดูธรรมดาไป ไม่ท้าทาย ต้องแก้ปัญหาด้วยการคิดหาแนวทางใหม่ ซึ่งทางเลือกที่น่าพิจารณาก็คือ การนำแนวคิดใหม่ๆมากกว่า 1 แนวทาง มารวมกันให้เกิดสิ่งใหม่ ๆ หรือรูปแบบใหม่ ๆ ขึ้นในตลาดสินค้าเดิม และยังคงตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคได้เป็นอย่างดี ตัวอย่างเช่น

ภาพที่ 10a : บรรจุภัณฑ์โค้กที่ยังคงใช้รูปทรงของขวดดั้งเดิม แต่เปลี่ยนวัสดุจากขวดแก้วมาเป็นอลูมิเนียมซึ่งปกติใช้สำหรับโค้กกระป๋อง ผลที่ได้คือ ความลงตัวที่ผสมผสานกันระหว่างความเก๋าแบบดั้งเดิมกับความเท่แบบใหม่ ๆ ขวดอลูมิเนียมนี้มีน้ำหนักเบากว่า ให้สีขวดได้สวยงามสะดุดตามากกว่าขวดแก้ว มี 3 รสคือ โคคาโคล่าคลาสสิคสีแดง โค้กซีโร่สีดำ และไดเอทโค้กสีเงิน และยังสามารถเก็บความเย็นไว้ได้นานกว่าขวดแก้วอีกด้วย ออกแบบโดย Turner Duckworth ซึ่งได้รับรางวัล Platinum Pentaward ในปี 2008
ภาพที่ 10b : บรรจุภัณฑ์สำหรับกระดาษทิชชูคลีเน๊กซ์ ภายใต้คอนเซ็ปต์ “Kleenex Slice of Summer” ที่ผสมผสานแนวคิดระหว่างผลิตภัณฑ์ กิจกรรมและอารมณ์สดชื่นในช่วงฤดูร้อน ซึ่งนักออกแบบได้นำไอเดียของการรับประทานผลไม้ที่ให้ความชุ่มช่ำที่มักนิยมรับประทานในช่วงอากาศร้อน ได้แก่ แตงโม ส้ม และมะนาว ซึ่งมีสีสันสดใส ทำให้ได้บรรยากาศตามคอนเซ็ปต์ กระดาษทิชชูก็เป็นอุปกรณ์ที่เหมาะเจาะกับกิจกรรมนี้เป็นอย่างยิ่ง ออกแบบโดย Jennifer Brock แห่ง Kimberly Clark วาดภาพประกอบโดย Hiroko Sanders
- อาศัยวัสดุและเทคโนโลยีการพิมพ์เป็นตัวช่วย
แนวคิดสุดท้ายคือการออกแบบโดยใช้เทคนิคการพิมพ์พิเศษเข้าช่วยเพิ่มเสน่ห์ให้แก่บรรจุภัณฑ์ และเพิ่มมูลค่าให้แก่สินค้า ตัวอย่างเช่น
ภาพที่ 11a : ฉลากบรรจุภัณฑ์สำหรับขวดน้ำแร่ Fasson นี้ใช้เทคนิคการพิมพ์ 2 ด้าน คือด้านหลังจะเห็นเป็นฉลากขวดธรรมดา มีรายละเอียดของผลิตภัณฑ์ แต่ด้านในจะพิมพ์เป็นลวดลาย เพื่อให้สามารถมองเห็นได้จากทางด้านหน้าอย่างชัดเจน ช่วยเพิ่มความพิเศษให้แก่บรรจุภัณฑ์ธรรมดา ๆให้โดดเด่นขึ้นมาทันที
ภาพที่ 11B : Cocolino เป็นแบรนด์น้ำมะพร้าวที่วางขายในตลาดดูไบ ซึ่งมีทั้งในรูปแบบขวดแก้ว และกระป๋องอลูมิเนียม ตกแต่งด้วยภาพลูกมะพร้าว ใบปาล์มสีเขียว และดอกกล้วยไม้สีฟ้า ให้ความเย็นสดชื่นด้วยโทนสีฟ้า-เขียว ส่งเสริมกันด้วยการใช้พื้นพิมพ์สีเงินเมททาลิกที่มีการพิมพ์ลวดลายในตัว โดยจะสามารถมองเห็นได้ชัดขึ้นเมื่อได้รับความเย็นที่เพียงพอ ออกแบบโดย Marx Design นิวซีแลนด์
ภาพประกอบจาก
http://awesomepackaging.com, http://lovelypackaging.com, http://www.inewidea.com, http://www.thedieline.com
#ThaiPDA #NewDesignPackaging #PackageDesign #Package
