แนวคิดการออกแบบบรรจุภัณฑ์อัจฉริยะในยุค The Internet of Things

เรื่อง : ผศ.โสมภาณี ศรีสุวรรณ

การออกแบบบรรจุภัณฑ์อัจฉริยะ หรือ Smart Packaging ในวันนี้พัฒนาไปมาก ล้ำหน้ากว่าบรรจุภัณฑ์ทั่วๆไป ด้วยการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีที่ช่วยเพิ่มฟังก์ชั่น และการทำงานแบบใหม่ให้กับบรรจุภัณฑ์ ไม่ว่าจะเป็นการใช้ เทคโนโลยีพลาสติกอิเล็กทรอนิกส์ (plastic electronics) ฉลากแบบส่งคลื่นความถี่วิทยุ (RFID) และเซนเซอร์ต่างๆ วงจรแบบพิมพ์บนพื้นผิวได้ หรือหมึกพิมพ์พิเศษ เป็นต้น อันถือเป็นนวัตกรรมใหม่ในการยกระดับ มูลค่าของบรรจุภัณฑ์ให้สูงขึ้น 

ในปัจจุบันวิถีชีวิตของผู้บริโภคก็เปลี่ยนไปตามกระแสความเจริญทางเทคโนโลยีเช่นกัน ในยุคของ The internet of things (IoT) หรือ “อินเตอร์เน็ตในทุกสิ่ง” ซึ่งหมายถึงการที่อุปกรณ์ต่าง ๆ หรือสิ่งต่าง ๆ ที่ใช้ในชีวิตประจำวัน ได้ถูกเชื่อมโยงสู่โลกอินเตอร์เน็ต ทำให้เราสามารถสั่งการควบคุมการใช้งานอุปกรณ์ต่าง ๆ ผ่านทางเครือข่าย อินเตอร์เน็ตได้อย่างอัจฉริยะ เสมือนว่าอุปกรณ์สามารถเชื่อมต่อและพูดคุยกันเอง ทำให้การใช้ชีวิตประจำวัน ของคนเราสะดวกสบาย ง่ายดายและปลอดภัยมากขึ้นกว่าเดิมหลายร้อยเท่า

นักศึกษาปริญญาโทจากมหาวิทยาลัย Dublin Institute of Technology ในไอร์แลนด์กลุ่มหนึ่ง ประกอบด้วย Maija Sardiko, Jura Afanasjevs, Caoimhe Lavelle, Amanda Lennon และ Shannen Jalal ได้นำเสนอแนวคิด การออกแบบบรรจุภัณฑ์อัจฉริยะยุค IoT ให้แก่บรรจุภัณฑ์ชา PositiviTea ที่พัฒนามาจากความต้องการของ ผู้บริโภค ภายใต้แนวคิดที่ว่า ชาแก้ปัญหาได้ทุกเรื่อง โดยการที่ได้สัมผัสถ้วยชา ไม่เพียงแต่ผู้บริโภคจะได้ลิ้มรส ชาสมุนไพรที่หอมละมุนเท่านั้น เขายังจะได้รับรู้ และเข้าถึงข้อมูลข่าวสารตลอดจนเรื่องราวดี ๆ ที่ถ่ายทอดจากผู้บริโภคสู่ผู้บริโภคด้วยกันอีกด้วย ช่วยสร้างความอารมณ์แห่งความสุขความพึงพอใจผ่านการดู ฟัง อ่าน เรื่องราวดี ๆ ที่ชา PositiviTea ยินดีนำเสนอ ตัวบรรจุภัณฑ์ หรือถ้วยชานี้ทำงานด้วยระบบสัมผัสที่ไวต่อการสัมผัสมาก เพียงแค่นำปลายนิ้วไปแตะที่ภาพ icon ก็จะไปแสดงผลบนหน้าจอ iPhone หรือ iPad ที่อยู่ ใกล้เคียงทันที

ภาพ01
ภาพ02

จากสิ่งรอบ ๆ ตัว และกิจวัตรที่ผู้บริโภคทำเป็นประจำ จะพบได้ว่าการดื่มชาหรือกาแฟนั้นจัดเป็นส่วนหนึ่ง ในชีวิตประจำวันของทุกคนไปแล้ว ซึ่งหากได้มีการผสมผสานความรู้สึก และอารมณ์ที่จะเกิดขึ้นเมื่อดื่มชา ร่วมการทำกิจกรรมต่าง ๆ กับผู้อื่นด้วยก็ยิ่งจะได้อรรถรส และความพึงพอใจมากยิ่งขึ้น นักออกแบบจึงนำประเด็นนี้มาเป็นคอนเซ็ปหลักในการออกแบบ “Tea fixes everything” โดยสร้างกิจกรรมปฏิสัมพันธ์ต่าง ๆ ให้ผู้บริโภคได้เชื่อมโยงกัน ตั้งแต่การสนทนากัน (chat) ดูภาพและวิดีโอ (photo & video) อ่านข่าว (news) ฟังเพลง (music) ตลอดจนเรื่องที่อยากให้ประหลาดใจต่างๆ (surprise) โดยออกแบบเป็น icon หลักในรูปแบบ ที่เรียบง่าย และชัดเจน

แต่ละกิจกรรมจะมี App มารองรับ ให้ผู้บริโภคสามารถสร้างปฏิสัมพันธ์กับคนอื่น ๆ เช่น หากต้องการอ่านข่าว ด้วย News App ก็สามารถเข้าไปอ่าน คอมเมนท์ โพสต์ แชร์ ต่อให้คนอื่นได้ผ่านทางเวปไซต์ของ PositiviTea หรือ Social Network ต่าง ๆ เช่น Facebook, Twitter หรือ Pinterest เป็นต้น โดยทำตามขั้นตอนในภาพข้างล่างนี้ 

ลักษณะของบรรจุภัณฑ์ประกอบด้วยถ้วยกระดาษที่พิมพ์ลวดลาย icon pattern ด้วยหมึกพิมพ์ธรรมดา และปลอกกระดาษ (Sleeve) ที่เจาะเป็นช่องรูปโลโก้ของ PositiviTea ในตำแหน่งที่ตรงกับ Application icon ที่พิมพ์ด้วยหมึกนำไฟฟ้า ตัวปลอกนี้จะหมุนได้รอบๆถ้วย แล้วแต่ว่าจะต้องการให้ตรงกับ icon ตัวใด

ในภาพบนพื้นผิวของถ้วยจะเห็นตำแหน่ง Application icon ที่พิมพ์ด้วยหมึกนำไฟฟ้าด้วยสีที่แตกต่างจาก icons อื่นๆ และในภาพปลอกด้านล่างจะเห็นตำแหน่งที่เจาะช่องเป็นรูปโลโก้ ทั้งนี้จะมีการให้สีที่แตกต่างกันไป ตามชนิดของเครื่องดื่ม

จากภาพตัวอย่างนี้จะเห็นการทำงานของถ้วย PositiviTea ได้ชัดเจน โดยเพียงนำปลายนิ้วไปแตะที่ภาพ icon เช่น News หรือ Photo ก็จะไปแสดงผลบนหน้าจอของอุปกรณ์สื่อสารที่อยู่ในบริเวณนั้น ๆ ได้ทันที โปรเจคนี้เป็นเพียงการนำเสนอแนวคิดการออกแบบบรรจุภัณฑ์ในยุค The internet of things ให้ทำหน้าที่ได้มากกว่าเป็น ภาชนะบรรจุเครื่องดื่มเพียงอย่างเดียว ผู้ออกแบบได้แสดงให้เห็นถึงการเพิ่มมูลค่าของบรรจุภัณฑ์ที่สามารถ ตอบรับความต้องการ อารมณ์ความรู้สึก ความพึงพอใจ และเสริมสร้างประสบการณ์ใหม่ ๆให้แก่ผู้บริโภค ขณะนั่งดื่มชา ไม่ว่าจะนั่งดื่มอยู่ ณ ที่ใด นับว่าเป็นแนวคิดต่อยอดให้บรรจุภัณฑ์ธรรมดา ๆ แปลงโฉมเป็น บรรจุภัณฑ์อัจฉริยะ ซึ่งจะได้เห็นได้สัมผัสกันในไม่ช้านี้อย่างแน่นอน

ภาพประกอบจาก Packaging of the World, Behence

#ThaiPDA #PackageDesign #SmartPackaging #IoTPackage #IoT

Picture of ผศ.โสมภาณี ศรีสุวรรณ

ผศ.โสมภาณี ศรีสุวรรณ

Leave a Comment

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

Scroll to Top