The Future of Packaging Design

เรื่อง : ผศ.โสมภาณี ศรีสุวรรณ

ในอนาคตอันใกล้ ๆ นี้ เราจะเห็นการเปลี่ยนแปลงในการออกแบบบรรจุภัณฑ์ชัดเจนยิ่งขึ้น จากปัจจุบันสู่อนาคตด้วยพลังขับเคลื่อนต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นความท้าทายเรื่องสิ่งแวดล้อม นวัตกรรมด้านวัสดุบรรจุภัณฑ์ การก้าวสู่เศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular economy) และระบบดิจิทัลอย่างครบวงจร ตลอดจนการปรับตัวของการค้าปลีก และความคาดหวังของผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงและเติบโตอย่างต่อเนื่อง

แต่สิ่งสำคัญที่สุดคือการเปลี่ยนแปลงกระบวนการคิดวิเคราะห์ และออกแบบบรรจุภัณฑ์แนวใหม่อันจะเปลี่ยนแปลงการดำเนินการแบบเดิม ๆ โดยสิ้นเชิง ได้แก่การทำงานแบบองค์รวม (A new holistic approach to packaging) ที่บริษัท Grow ร่วมกับ Digitalist Group ได้ร่วมกันปรับเปลี่ยนการดำเนินการออกแบบบรรจุภัณฑ์ในอนาคตที่มีแนวคิดในการรวมตัวกันของกูรู หรือผู้เชี่ยวชาญทุก ๆ ด้านที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นด้านการออกแบบ เทคโนโลยี เศรษฐกิจหมุนเวียน และแบรนด์สินค้าชั้นนำจากทั่วโลก เช่น สหรัฐอเมริกา แคนาดา สหราชอาณาจักร  สต็อกโฮล์ม และเฮลซิงกิ เพื่อร่วมกันสร้างสรรค์นวัตกรรมของบรรจุภัณฑ์ในอนาคต โดยมุ่งเน้นไปที่ Circular economy, Smart packaging, Human centered design และ Future materials 

วิธีการที่ Grow กำลังทำอยู่คือ การระดมพลกำลังจากหลายๆฝ่ายในลักษณะของ Boundary-crossing collaborations โดยตั้งเป้าหมายไปที่บริษัทและแบรนด์ต่างๆที่ต้องการเห็นการเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีขึ้น และสรรหาทีมงาน ระดมสมองผู้เชี่ยวชาญด้าน Design, Branding, Research, New materials, Digital innovation, Circular economy และ Business transformation รวมทั้งร่วมมือกับแบรนด์สินค้าชั้นนำ กลุ่ม Startup และอุตสาหกรรมต่างๆ รวมทั้งสถาบันวิจัยวิทยาศาตร์ที่เกี่ยวข้อง เพื่อร่วมกันวิเคราะห์วิจัย และร่วมทุนในการพัฒนาบรรจุภัณฑ์เพื่ออนาคต ซึ่งเป็นการช่วยสนับสนุนบรรดาอุตสาหกรรมให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในกระบวนการผลิตโดยมีแบรนด์เป็นตัวเปลี่ยนแปลงกลไก ดังตัวอย่างโปรเจคต่อไปนี้

PABOCO

โปรเจคนี้เริ่มขึ้นเมื่อประมาณปี 2015 ด้วยความร่วมมือกันระหว่าง EcoXpac, BillerudKornäs และ Carlsberg เพื่อออกแบบขวดกระดาษ ทำจากกระดาษ Biodegradable ที่สามารถบรรจุเบียร์ได้แทนขวดแก้วหรือพลาสติก สามารถรีไซเคิลได้และนำกลับมาใช้ใหม่ได้ (Renewable) โดยตั้งเป้าว่าจะสามารถนำมาใช้แทน หรือลดการใช้พลาสติก แก้ว โลหะ ได้ในที่สุด อันเป็นแรงผลักดันให้เป็นผู้บุกเบิกในการสร้างขวดกระดาษสำหรับใช้ในวิถีชีวิตประจำวันของผู้บริโภคยุคใหม่ อันเป็นการพลิกโฉมอุตสาหกรรมและเปลี่ยน mindset ของผู้บริโภคครั้งยิ่งใหญ่

การตั้งชื่อแบรนด์ว่า PABOCO มาจากชื่อ Paper Bottle Company นั้นก็เป็นการสร้าง visual identity ได้อย่างชัดเจน และแยบยล อันเป็นการรวมพลังกันของการใช้ฟอนต์ที่เรียบง่าย การใช้สี การจัดวางตัวอักษรให้มี dynamic สะท้อนให้เห็นถึงการรวมพลังกันระหว่างเทคโนโลยี คน และความคิดสร้างสรรค์อย่างลงตัว

โปรเจคขวดกระดาษของ PABOCO นี้ประกอบด้วยพาร์ทเนอร์ผู้บุกเบิก 3 ส่วนคือ 

1. เจ้าของโครงการ (Pioneer owners) ได้แก่ Billerudkorsnäs ผู้พัฒนาวัสดุบรรจุภัณฑ์กระดาษและ Alpla ผู้เชี่ยวชาญการผลิตขวดกระดาษ 

2. แบรนด์ที่เข้าร่วมโครงการ (Pioneer brands) ได้แก่ Carlsberg, The Absolute Company, Loréal, Coca-Cola in Europe และ P&G

3. ผู้เชี่ยวชาญด้านต่างๆ (Pioneer experts) ได้แก่ Teknos, Grow, Recycl3R, Avantium และ FSC

ซึ่งนับได้ว่าเป็นโปรเจคที่ริเริ่ม และบุกเบิกการสร้างขวดกระดาษจาก Bio-based ที่สามารถรีไซเคิลได้เป็นครั้งแรกของโลก โดยเฉพาะการเป็นต้นแบบของการทำงานร่วมกันระหว่างพาร์ทเนอร์ผู้เชี่ยวชาญในลักษณะ Boundary-crossing collaborations ที่สร้างการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญในวงการออกแบบบรรจุภัณฑ์ในอนาคตได้เป็นอย่างดี

TATA STEEL

Tata Steel ได้พัฒนาวัสดุบรรจุภัณฑ์ใหม่ที่เรียกว่า “Protact®”ขึ้นมาใช้แทนกระป๋องโลหะที่ใช้ทำบรรจุภัณฑ์อาหารกระป๋องแบบเดิม โดยสามารถปรับเปลี่ยนรูปทรงของกระป๋อง พื้นผิว และการพิมพ์ลงบนตัวกระป๋องให้เป็นสินค้าที่น่าปรารถนาของผู้บริโภค แก้ปัญหาเรื่องวัสดุบรรจุภัณฑ์โดยลดการใช้วัสดุลงเพื่อลด food loss สามารถสร้าง shelf impact ที่โดดเด่นเตะตาผู้บริโภค และที่สำคัญคือรีไซเคิลได้หลายครั้งโดยไม่สูญเสียคุณภาพ แม้แนวคิดนี้ยังเป็นเพียง concept และผลลัพธ์ที่ได้ยังคงเป็นเพียง prototype เท่านั้น แต่ก็นับเป็นการเปลี่ยนแนวคิดใหม่ ๆให้กับอุตสาหกรรมบรรจุภัณฑ์อาหารกระป๋องในอนาคตได้อย่างมีนัยสำคัญ

ในกระบวนการออกแบบ Tata Steel มุ่งเน้นไปที่สินค้าอาหารเกษตรพื้นบ้าน และแบรนด์สินค้าอาหารรายใหญ่ โดยช่วยยกระดับคุณภาพของสินค้าอาหาร ให้เห็นความหลากหลายของสินค้าผ่านรูปทรงของบรรจุภัณฑ์ ขนาด และพื้นผิว อันเป็นมุมมองใหม่ของบรรจุภัณฑ์ในอนาคต รูปทรงของตัวป๋อง Protact® นี้จะมีลักษณะคล้ายถ้วยคือปากกว้าง ก้นแคบและโค้งมนเพื่อใช้งานง่ายและลดปัญหา food waste ตัวกระป๋องมีทั้งผิวเรียบและพื้นผิวทำลวดลายตามลักษณะสินค้า เช่น ข้าวโพด และมีฝาปิด 2 ชั้น ชั้นในเป็นแบบชนิดมีห่วงดึงที่ออกแบบใหม่เป็นรูปใบไม้ที่ดึงง่ายขึ้น และฝาชั้นนอกเป็นฝาเกลียวที่ใช้งานง่าย ทุกส่วนเน้นการใช้งานแบบหมุนเวียน นำกลับมาใช้ใหม่ หรือรีไซเคิลได้หลายๆครั้ง

แนวคิดของบรรจุภัณฑ์นี้ Tata Steel ได้ร่วมกับ Grow พัฒนาขึ้นสำหรับสินค้าเกษตรที่มีความหลากหลาย ตั้งแต่สินค้าพื้นถิ่นราคาไม่แพงอย่างข้าวโพดจนถึงสินค้าพรีเมี่ยมอย่างเห็ดทรัฟเฟิล โดยตั้งใจจะช่วยเพิ่มมูลค่าสินค้าอาหารกระป๋องให้เป็นที่พึงพอใจ และยอมรับของผู้บริโภคในฐานะบรรจุภัณฑ์ในอนาคต

YANGI

Yangi Beauty เป็นตัวอย่างของบรรจุภัณฑ์เครื่องสำอางที่ร่วมโครงการกับ Grow และ The Loop Factory ที่คิดค้นการใช้เทคโนโลยีการขึ้นรูปเยื่อเซลลูโรสอันเป็นลิขสิทธิ์ของ Yangi (Cellulose Dry Forming Technology Yangi DFT) มาใช้ในการผลิตบรรจุภัณฑ์ครีม นับว่าเป็นการสร้างความท้าทายให้แก่บรรดาอุตสาหกรรมบรรจุภัณฑ์เครื่องสำอางทั้งหลายไม่น้อยเลยทีเดียว ด้วยการสร้างระบบการผลิตบรรจุภัณฑ์ขึ้นใหม่ที่เน้นเทคโนโลยีการผลิต การใช้วัสดุที่สามารถนำกลับมาใช้ใหม่ได้ ลดการใช้ rigid plastic ในบรรจุภัณฑ์ครีม และเปลี่ยนมาใช้วัสดุ New Bio-based แทน ตลอดจนการนำเทคโนโลยีฮาร์ดแวร์ และซอฟต์แวร์แบบใหม่มาใช้ในการออกแบบเพื่อสื่อสารและสร้าง connection กับผู้บริโภค

ทั้งนี้ ได้มีการคาดการไว้ว่า หากอุตสาหกรรมยังคงใช้พลาสติกเป็นวัสดุหลักในการผลิตบรรจุภัณฑ์เครื่องสำอางเช่นที่เคยทำต่อไปเรื่อย ๆ การปล่อยก๊าซ CO2 ก็จะเพิ่มขึ้นเท่าตัวในปี 2050 ประมาณ 85 ล้านตัน ซึ่งพลาสติกทั่วโลกที่ถูกนำไปรีไซเคิลนั้นมีเพียง 10% ที่ไม่สามารถรีไซเคิลได้เนื่องจากมีข้อจำกัดของระบบรีไซเคิล จึงเป็นสาเหตุให้เกิดขยะพลาสติกสะสมมากขึ้นทุกๆปี และ 60% ในนั้นคือบรรจุภัณฑ์พลาสติกนั่นเอง 

Grow ผู้บุกเบิกบรรจุภัณฑ์ในอนาคตเล็งเห็นความสำคัญในการลดปัญหาสิ่งแวดล้อม จึงริเริ่มโครงการดังกล่าวร่วมกับ Yangi และ The Loop Factory พัฒนาเทคโนโลยี DFT ขึ้นมาและเผยแพร่เทคโนโลยีนี้เข้าสู่ตลาดเครื่องสำอาง โดยร่วมวิจัย ออกแบบ และสร้าง prototype บรรจุภัณฑ์ครีมกับสถาบันวิจัยต่าง ๆ อุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้อง และแบรนด์สินค้าชั้นนำของโลกตามแนวคิด และกลยุทธ์ของแบรนด์

Yangi Circular Packaging System
Yangi Cellulose Dry Forming Technology
รูปแบบการสร้าง connection กับผู้บริโภคผ่านสมาร์ทโฟน

ที่มาของข้อมูล และภาพ

https://www.grow.eu/work/the-future-of-packaging/, https://www.grow.eu/work/paboco/, https://www.grow.eu/work/tata-steel/, https://www.grow.eu/work/yangi/

#ThaiPDA #FuturePackaging #PackageDesign

Picture of ผศ.โสมภาณี ศรีสุวรรณ

ผศ.โสมภาณี ศรีสุวรรณ

Leave a Comment

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

Scroll to Top