Fruit Box Series พลิกโฉมกล่องลูกฟูกสู่กล่องผลไม้ของฝากจากยามากาตะ

ด้วยคุณสมบัติในความคงทน แข็งแรง น้ำหนักเบา ใช้ประโยชน์ได้หลากหลาย และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม กระดาษลูกฟูก จึงเป็นที่นิยมใช้ในงานบรรจุภัณฑ์ โดยเฉพาะบรรจุภัณฑ์เพื่อการขนส่ง โครงสร้างหลักของแผ่นกระดาษลูกฟูกแบ่งออกเป็น 2 ส่วนสำคัญได้แก่ กระดาษแผ่นเรียบ (Line Board) สำหรับติดบริเวณด้านหน้า และ/หรือด้านหลัง และลอนลูกฟูก (Corrugated Medium) ส่วนของกระดาษที่มีลักษณะเป็นคลื่น และอยู่ติดกับกระดาษแผ่นเรียบ

ขนาด และความสูงของลอนลูกฟูก เหมาะสมกับการใช้งานที่แตกต่างกัน เช่น กระดาษลูกฟูกลอน A ความสูงของลอน 4.0-4.8 มิลลิเมตร จำนวน 36 ลอน/ฟุต เหมาะกับสินค้าที่ต้องการรับน้ำหนักเรียงซ้อนมาก ไม่เน้นการพิมพ์ ในขณะที่ กระดาษลูกฟูกลอน E ความสูงของลอน 1.0-1.8 มิลลิเมตร จำนวน 95 ลอน/ฟุต เหมาะกับกล่องไดคัทขนาดเล็ก และรองรับการพิมพ์ได้ดีที่สุด เป็นต้น นอกจากนี้ ชนิดของกระดาษคราฟท์ ที่ทำมาทำเป็นแผ่นกระดาษลูกฟูกก็มีหลายปะเภท หลากสีสัน และคุณภาพการนำไปใช้ก็แตกต่างกัน เช่น กระดาษ KS กระดาษคราฟท์สีขาว เหมาะสำหรับกล่องที่เน้นความสวยงาม ช่วยให้งานพิมพ์ชัดเจน มีความแข็งแรงสูง เหมาะกับทำกล่องผลิตภัณฑ์เครื่องใช้ไฟฟ้า สินค้าเพื่อการส่งออก หรือ กระดาษ KT กระดาษคราฟท์สีน้ำตาลสำหรับทำผิวกล่อง ผลิตจากเยื่อ Recycle 100% ส่งเสริมด้านสิ่งแวดล้อม เหมาะกับสินค้าส่งออกที่ระบุให้ใช้กล่องที่ทำจากเยื่อกระดาษ Recycled ทั้งหมด เป็นต้น วันนี้ผมขอนำตัวอย่างงานออกแบบกล่องลูกฟูกสำหรับใส่ผลไม้ (Fruit Box Series) โดย Marusada จากประเทศญี่ปุ่นที่ยกระดับแนวคิดในงานออกแบบบรรจุภัณฑ์กล่องลูกฟูกจากเดิมที่ดูเชยสู่การคว้ารางวัล Good Design 2024 จากประเทศญี่ปุ่นมาให้ศึกษากันครับ

เป้าหมายหลักในงานออกแบบ

  • ปรับรูปแบบของกล่องผลไม้ให้ดูสบายตา พร้อมส่งเสริมให้เกิดวัฒนธรรมการมอบผลไม้ หรือซื้อเป็นของฝากจากเมืองยามากาตะมากขึ้น 
  • ใช้คุณสมบัติของกระดาษลูกฟูกได้อย่างครบถ้วน ลดต้นทุนการผลิต ประกอบง่าย ปลอดภัย และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม
  • ปรับปรุงระบบโลจิสติกส์ โดยคำนึงถึงขนาด วัสดุ และรูปทรง เพื่อให้การจัดเก็บเหมาะสมกับเนื้อที่ และการขนส่งที่ประหยัดพลังงานมากที่สุด

สร้างความร่วมมือ พัฒนากล่องบรรจุภัณฑ์

โครงการนี้สำเร็จได้จากความร่วมมือของภาคอุตสาหกรรม และสถาบันการศึกษา ระหว่างบริษัทออกแบบ Colon Inc. ในพื้นที่ และนักศึกษาภาควิชาออกแบบกราฟิกจากมหาวิทยาลัยศิลปะ และการออกแบบโทโฮอุ โดยมีบริษัท Marusada ผู้ผลิตวัสดุบรรจุภัณฑ์ให้คำปรึกษาตลอดโครงการ

กล่องลูกฟูก

หัวใจหลักในการออกแบบคือ การคำนึงถึงพฤติกรรมการซื้อของผู้บริโภครุ่นใหม่ ขนาดของกล่อง น้ำหนักบรรจุ และการจัดส่งพัสดุแบบมาตรฐาน เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ ลดต้นทุนการจัดส่ง และช่วยให้ผู้รับจัดเก็บสินค้าได้ง่าย นอกจากนี้ยังแก้ไขปัญหาขอบกล่องกระดาษลูกฟูกที่มักจะบาดมือด้วยการออกแบบแนวตัดไดคัดเป็นรูปคลื่นขนาดเล็ก ๆ ทำให้ผิวสัมผัสไม่คมเหมือนการตัดแนวตรงแบบเดิม

กล่องแอปเปิ้ล และกล่องลูกแพร์ ปรับโครงสร้างของบรรจุภัณฑ์ให้เหมือนกับกล่องคอนเทนเนอร์ กล่องสามารถพับขึ้นรูปได้อย่างง่ายดาย มุมทั้ง 4 ด้าน (ด้านบน) ของกล่องลูกฟูกถูกออกแบบให้มีลักษณะขอบสูงบริเวณมุมกล่องสำหรับล็อกฝาปิดไม่ให้ขยับ และช่วยเสริมให้การวางซ้อนมีความมั่นคงมากขึ้น

กล่องเชอร์รี่ มีการแยกขนาดแบบบรรจุภัณฑ์ขนาดเล็ก และกล่องบรรจุภัณฑ์รวมสำหรับบรรจุกล่องเชอร์รี่ขนาดเล็กพร้อมกัน 2 กล่อง  โดยคำนึงถึงขนาดบรรจุ และรูปทรงของกล่องบรรจุเพื่อให้ผู้บริโภคซื้อเป็นของฝากได้ง่าย 

กล่ององุ่น มีการออกแบบถาดรองสำหรับรองรับพวงองุ่นไว้ด้านใน พร้อมบากช่องเพื่อรองรับพวงองุ่นที่มีรูปทรงต่างกัน นอกจากนี้ ถาดรองยังช่วยจัดระเบียบให้พวงองุ่นมีความสวยงามเหมือนการจัดวางดิสเพลย์ กล่องถูกออกแบบไว้สำหรับการซื้อแบบเดี่ยว หรือแบบสองพวง 

งานออกแบบกราฟิก

แนวคิดสำคัญคือการออกแบบภาพกราฟิกให้สามารถวางลวดลายต่อกันได้ อีกทั้งยังใช้หมึกพิมพ์รักษ์โลกที่ผลิตจากน้ำมันพืช และสารสกัดจากพืช เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

กล่องแอปเปิ้ล นำเสนอภาพประกอบแอปเปิ้ลลูกใหญ่สไตล์ย้อนยุค ดูทันสมัย และภาพกราฟิกแอปเปิ้ลตอนถูกปอกเปลือก โดยใช้สีแดงสื่อถึงผลแอปเปิ้ล และความอร่อย 

กล่องลูกแพร์สายพันธุ์ La France นอกจากกราฟิกไอคอนรูปลูกแพร์แล้ว ยังเพิ่มกราฟิกใบไม้ เพื่อสื่อถึงภาพของสวนลูกแพร์ที่สุกอร่อยพร้อมรับประทาน ลายกราฟิกของกล่องลูกแพร์นี้สามารถวางต่อลายกันได้ เมื่อมองจากไกล ๆ จะเหมือนสวนที่เต็มไปด้วยลูกแพร์ขนาดใหญ่

กล่องเชอร์รี่ ใช้กราฟิกสีแดงแทนลูกเชอร์รี่ และสีเขียวแทนใบไม้ และความเขียวขจี ลายกราฟิกสามารถวางต่อลายได้เหมือนกล่องลูกแพร์ ทำให้การจัดวางดิสเพลย์มีความสวยงาม

กล่ององุ่น กราฟิกองุ่นสีเขียว และสีม่วงตามสายพันธุ์ที่แตกต่าง ลายกราฟิกสามารถวางต่อลายได้เช่นกัน ให้ความรู้สึกเหมือนไร่องุ่นที่แผ่ขยายไปทั่วพื้นที่ขาย

แนวคิดดี ๆ ของงานออกแบบกล่องลูกฟูกที่ปรับภาพลักษณ์จากกล่องเพื่อการขนส่งแบบเชย ๆ สู่กล่องสินค้าที่ระลึกที่นอกจากจะสามารถซื้อเพื่อบริโภคเองแล้ว ยังกระตุ้นให้เกิดการซื้อเพื่อส่งมอบเป็นของขวัญให้กับญาติสนิทมิตรสหาย ส่งเสริมผลิตผลทางการเกษตรที่มีคุณภาพของเมืองยามากาตะได้อย่างยอดเยี่ยม อีกทั้งยังแสดงให้เห็นถึงแนวคิดในการทำงานวิจัยร่วมกันระหว่างภาคอุตสาหกรรม และสถาบันการศึกษาเพื่อให้ทุกคนรู้สึกภาคภูมิที่ได้มีส่วนร่วมกับผลิตภัณฑ์ท้องถิ่นที่สามารถโกอินเตอร์ได้อย่างภาคภูมิ

อ้างอิง : Thai Paper Box กระดาษลูกฟูก , G-Mark Fruit Box Series 

#ThaiPDA #PackageDesign #SustainablePackage #Marusada #FruitBoxSeriesตอน

Leave a Comment

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

Scroll to Top