
อุ่นเล่าเรื่อง : Cushion Packaging ตอนที่ 1 ส่งสินค้าอย่างไรไม่เสียหาย?
ด้วยผู้เขียนได้มีโอกาสทำงานกับบริษัทญี่ปุ่นที่ดำเนินการธุรกิจเกี่ยวกับบรรจุภัณฑ์แบบครบวงจร ตั้งแต่วิเคราะห์ระบบบรรจุภัณฑ์และ Logistic ของลูกค้า แล้วนำสู่ขบวนการลดต้นทุนที่ยังรักษาคุณภาพสินค้า ลดเวลาในการทำงานตั้งแต่การบรรจุ ลดเวลาการเคลื่อนย้ายสินค้าจนถึงการส่งออก โดยเริ่มจากการออกแบบ ทำต้นแบบ การทดสอบบรรจุภัณฑ์ (Primary-Secondary-Tertiary-Transportation Packaging) เป้าหมายหลักคือการลดต้นทุนในการใช้บรรจุภัณฑ์ กระบวนการผลิต ระบบการจัดเก็บ ระบบการขนส่ง ในหลายอุตสาหกรรม โดยใช้การออกแบบที่รวมศาสตร์และศิลปะมาเป็นแกนในการทำงาน เข้าใจธรรมชาติของวัตถุดิบ นำความรู้เชิงวิศวกรรม Engineering Packaging ผสานกับเทคโนโลยีมาวิเคราะห์การลดความเสียหาย เพื่อเป้าหมายการลดต้นทุน ตัวอย่างเช่นติดตั้ง micro-camera ใส่ไว้ในบรรจุภัณฑ์ เมื่อมีการ Drop test (เป็นขั้นตอนการทดสอบความแข็งแรงบรรจุภัณฑ์ว่าสามารถป้องกันสินค้าได้มากน้อยแค่ไหน) ได้เห็นว่าบรรจุภัณฑ์ที่ออกแบบมาป้องกันสินค้าไม่ให้เสียหายได้ทั้งหมดไหม หรือมีจุดอ่อนตรงไหนที่ทำให้สินค้ามีความเสียหาย เป็นต้น ประสบการณ์ที่ได้รับเป็นการทำงานแบบองค์รวม เชื่อมโยงต่อเนื่องกัน End-to-End Process คิดวิเคราะห์-ออกแบบ-ทดสอบ-ทำให้เกิดจริง-คำนึงต้นทุนให้สามารถแข่งข้นได้ด้วยคุณภาพและบริการแบบครบวงจร
เรามารู้จัก Cushion กัน
บรรจุภัณฑ์ที่ใช้ป้องกันสินค้า ไม่ให้เสียหาย จะมีวิธีหลายแบบ ที่นิยมกัน มี 2 แบบ คือ แบบ Chemical property protection และ Physical property protection ตัวอย่างแบบ Chemical ที่เห็นอยู่ประจำ ถุงขนมกลุ่ม Snack ที่เป็น multilayer flexible packaging ที่ต้องป้องกันอากาศ ความชื้นและแสง เข้าไปในถุง โดยใช้คุณสมบัติของวัตถุดิบที่มาผลิต มีชั้น metalizing ที่ป้องกันอยู่ อีกตัวอย่างที่เห็นชัดคือ ถุงที่ใส่ข้าวสารที่เรียกว่าข้าวถุง ขายในห้าง ขนาด 1, 2 หรือ 5 กิโลกรัม ตัวถุงจะคุณสมบัติเหนียวกว่าถุงที่ใส่แกง ป้องกันการทะลุ หรือการดึง การฉีกขาดได้ดีมาก ที่จะแบ่งปันใน EP นี้ คือ แบบ Physical ซึ่งตั้งแต่ช่วงโควิด ใช้กันแบบก้าวกระโดดคือการสั่งซื้อสินค้าทาง Online ทำให้มีการส่ง Delivery กันมาก จึงมีการใช้บรรจุภัณฑ์มากขึ้น นอกจากกล่องนอกที่เป็นกล่องลูกฟูก Outer Carton ยังต้องมีการกันกระแทก ที่นิยมใช้กันคือ กระดาษหนังสือพิมพ์ กระดาษฝอย เม็ดโฟมขาว Plastic Bubble กระแสรักษ์โลกมาแรงจึงเกิด อย่างผลิตภัณฑ์จากธรรมชาติ ผักตบชวาแห้ง หรือ Paper Bubble เป็นต้น ซึ่งมีความหลากหลายมากขึ้นอยู่กับสินค้าต้องการรับแรงกระแทกมากน้อยเพียงใด
Cushion สำเร็จรูป
จะขออธิบายการกันกระแทกสำเร็จรูปที่มีการซื้อขายใช้กัน โดยใช้วิธีคิดมา 5 มิติ ดังนี้ 1) ด้านต้นทุน Cost 2) ด้านการป้องกัน Protection 3) ด้านการใช้งาน Ease Using 4) ด้านความสวยงาม Aesthetics 5) ด้านสิ่งแวดล้อม Environment โดยคะแนนตัวเลขมาก จะดีมาก ยกเว้น ต้นทุนคะแนนตัวเลขต้องน้อยจะดีมาก

กระดาษหนังสือพิมพ์ ปัจจุบันนิยมน้อยลงด้วยคนไม่ค่อยได้อ่านหนังสือพิมพ์ ข้อดี คือ ราคาถูก สามารถกันกระแทกได้ทุกรูปแบบ และ ข้อเสีย อาจจะการหลุดลอกจากหมึกพิมพ์ออกมา

เม็ดโฟม ส่วนมากจะเป็นสีขาวที่ทำมาจาก Polystyrene มีหลายสีเช่นกันตามความต้องการของลูกค้า ข้อดี ราคาถูก สามารถกันกระแทกได้ทุกรูปแบบ ข้อเสีย คือ ขั้นตอนการทำลายยาก มีโอกาสหลุดลอดไปถึงทะเล ด้วยเป็นเม็ดเล็กๆที่เบา

กระดาษฝอย ก็เป็นที่นิยมใช้ด้วยราคาย่อมเยา หาง่าย ป้องกันสินค้าได้หลากหลายรูปแบบ ข้อเสียคือ ขั้นตอนการทำลาย หรือการนำมา recycle ด้วยเป็นเส้นเล็กๆ สามารถหลุดลอดไปถึงทะเลได้

Plastic Bubble ก็เป็นที่นิยมใช้ด้วยสามารถห่อหุ้มป้องกันสินค้าได้หลากหลาย ยังสามารถป้องกันน้ำ ความชื้นได้ดีกว่ากระดาษที่กล่าวมา จึงเป็นที่นิยมใช้กันมากกว่าอันอื่นที่กล่าวมา อีกทั้งดูเรียบร้อย สะอาด และที่มั่นใจคือการป้องกันสินค้า ข้อเสียคือ การนำมา recycle ก็ได้บ้าง ไม่ได้ทั้งหมด ด้วยมีการปนเปื้อนความสกปรกมาก จึงนำไปฝังกลบจะเสียส่วนใหญ่

ผักตบชวาแห้ง กำลังมาแรงด้วยกระแสรักษ์โลก การรักษาสิ่งแวดล้อม การผลิตค่อนข้างใช้แรงงานมาก คุณภาพก็พอใช้ป้องกันสินค้าได้ ข้อเสีย คือ ราคาค่อนข้างสูงกว่าเพื่อน มีการปนเปื้อน และความชื้นที่จะเกิดเชื้อรา หากเก็บไว้นานๆ ไม่เหมาะกับสินค้าอิเล็กทรอนิกส์

Paper Bubble มีหลายรูปทรง ขึ้นอยู่กับการใช้งาน รองรับสินค้ามีน้ำหนัก ชิ้นส่วนรถยนต์ และมีแบบกระดาษรังผึ้ง Honeycomb paper ดูเป็นกระแสรักษ์โลกได้ดี สามารถป้องกันสินค้าได้ดี ข้อเสียคือมีราคาค่อนข้างสูง แต่ดูดี เหมาะกับการใช้กับสินค้ที่ค่อนข้างมีราคา ด้วยเป็นกระดาษ จึงมีฝุ่นตามด้วย

Paper Cushion มาจากการขึ้นรูปของกระดาษแข็ง หรือ กระดาษลูกฟูก เป็นการออกแบบเฉพาะสินค้านั้นๆ ดู premium มากขึ้น ป้องกันสินค้าได้ดี recycle ได้ ข้อเสียคือ ต้องใช้นักออกแบบบรรจุภัณฑ์เฉพาะ จึงมีต้นทุนของค่าออกแบบ
ผู้เขียนอยากให้วงการออกแบบบรรจุภัณฑ์ของไทย เพิ่มขีดความสามารถในการออกแบบด้านนี้ ซึ่งจำเป็นต้องมีความรู้ของวัตถุดิบที่นำมาใช้ ทำให้การกำจัดขยะบรรจุภัณฑ์ลดลงได้มาก เป็นการรักษาสิ่งแวดล้อมเป็นอย่างดี
TIP การเลือกใช้ส่วนกันกระแทก Cushion Packaging
- ส่วนกันกระแทกเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ลูกค้า WOW ได้ เพิ่มประสบการณ์ในการคิดถึงสินค้าเรา
- ส่วนกันกระแทกทำให้สินค้าดูแพงขึ้นได้
- เลือกใช้ให้เหมาะกับกลุ่มเป้าหมาย เหมาะกับสินค้าเรา
- คิดเผื่อว่าลูกค้าจะนำไปใช้ต่อ หรือ จะทิ้งอย่างไรที่ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม
สามารถศึกษาเพิ่มเติมสินค้าจากผู้เชี่ยวชาญระดับโลก อย่างบริษัท Storopack Cr. https://www.storopack.us/your-industry/
ขอแบ่งปันข้อมูลจาก Case จริงระดับโลกที่ผู้เขียนได้พบกับผู้เชี่ยวชาญท่านนี้ คือ คุณโยชิคาสุ โอคาซากิ เป็นผู้เชี่ยวชาญด้านบรรจุภัณฑ์จะเรียกได้ว่าเบอร์หนึ่งของบริษัทยักษ์ใหญ่ของญี่ปุ่นในวงการสุขภัณฑ์ นั่นคือ TOTO ด้วยการอธิบายผ่านตัวหนังสือจะไม่ดี หรือเข้าใจเท่ากับการฟังและดูจากคลิปวิดิโอ Youtube https://youtu.be/Xz6MukG0lfY (ได้ขออนุญาตจาก คุณฟูจิ ฟูจิซากิ เจ้าของรายการดูให้รู้ ของไทยพีบีเอส มาเผยแพร่แล้ว) จึงขอให้ท่านผู้อ่านที่สนใจลองหาเวลาเข้าไปดู เขาจะเล่าเรื่องการไปชมที่โรงงานของ TOTO ในเมืองฟูกุโอกะ ตั้งแต่การออกแบบ cushion บรรจุภัณฑ์ของกล่องฝาโถส้วมอัจฉริยะของ TOTO (ที่เปิดปิดฝาอัตโนมัติ มีระบบเซนเซอร์การล้างทำความสะอาดหลังเสร็จภารกิจ) ที่มีการพัฒนาอย่างต่อเนื่องจากรุ่นแรกมาเป็นรุ่นที่ 3 ซึ่งสามารถลดต้นทุนกระดาษได้มาก ด้วยการออกแบบให้การใช้กระดาษลดลง แต่ยังคงความแข็งแรง ในคลิปวิดิโอยังมีการแสดงการติดตั้งสุขภัณฑ์อันชาญฉลาด รวมถึงการทดสอบความเข็งแรงของบรรจุภัณฑ์ต่อสินค้าที่อยู่ภายใน ครั้งหน้าจะมาขยายและอธิบายเนื้อหาให้ละเอียด จึงขอเชิญชวนท่านผู้อ่านลองเข้ามาดู หากมีคำถามหรือต้องการแสดงความคิดเห็นมาแลกเปลี่ยนกันจะยินดีมาก
อุ่นเล่าเรื่อง : Cushion Packaging ตอนที่ 2 จะมาอธิบายเพิ่มเติม Cushion ของบรรจุภัณฑ์นี้ พร้อมกับเกร็ดเล็กเกร็ดน้อย ที่ผู้เขียนได้มีโอกาสร่วมการทำงานกับงานนี้ ด้วยทางบริษัท TOTO ได้ย้ายฐานการผลิตสินค้าฝาโถส้วมอัจฉริยะมาที่ประเทศไทย สามารถ Click อ่านได้ที่ลิงก์นี้ https://thaipda.or.th/cushionpack2/

โชตินรินทร์ วิภาดา
อุ่นเล่าเรื่อง เป็นบทความแบ่งปันความรู้ ประสบการณ์ เพื่อเป็นวิทยาทาน ที่น่าจะประโยชน์ต่อ SME วิสาหกิจชุมชน หรือองค์กรที่กำลังพัฒนาสินค้า อาหารและการบริการให้กับคนในชุมชนได้มีอาชีพหลักหรืออาชีพเสริม ซึ่งอาจจะใช้ชื่อ สัญญลักษณ์ บุคคล หรือองค์กรเพื่อให้เกิดภาพตัวอย่างที่จับต้องได้ ในความสำเร็จที่เกิดขึ้น เป็นแรงผลักดันให้SME วิสาหกิจชุมชน หรือองค์กรได้ก้าวต่อไป โดยผู้เขียนไม่มีเจตนาที่จะละเมิดลิขสิทธิ์ เครื่องหมายการค้าใดๆ