
อุ่นเล่าเรื่อง : กล่องชุดซาแซ ของไหว้มงคล
ด้วยได้รับโจทย์การแก้ปัญหาให้กับร้านตงเพ้ง ภัตตาคารสไตล์จีนร้านเก่าแก่ ย่านโชคชัย 4 ให้มาออกแบบกล่องที่ช่วยกระบวนการบรรจุอาหาร และการขนส่งของไหว้งานตรุษจีน และสารทจีนให้สะดวกมากยิ่งขึ้น จึงขอแบ่งปันแนวคิด การออกแบบกล่องบรรจุภัณฑ์ซาแซ ของไหว้งานตรุษจีน Packaging for Three Offerings for Chinese New Year ลองอ่านตามมาครับ ว่าช่วยได้มากน้อยแค่ไหน
มาทำความรู้จักของไหว้ที่ใช้ในงานไหว้เทศกาลตรุษจีน และสารทจีนตามความเชื่อของคนไทยเชื้อสายจีน สิ่งของหลักที่นำมาไหว้ คือ เนื้อสัตว์จะเป็น ไก่ เป็ด หมู ปลาหมึกแห้ง ปลา ซึ่งมีความหมาย ความเป็นสิริมงคล ของไหว้จะมีการรวมกัน 3 อย่าง เรียกว่า ซาแซ (ตามรูป) จะเป็นไก่ต้มทั้งตัวพร้อมเครื่องใน เป็ดพะโล้พร้อมเครื่องใน หรือเป็ดย่าง ส่วนหมูจะมาเป็นชิ้น หมูต้ม หมูกรอบ หรือหมูแดงย่าง (ไก่ กับ เป็ด เป็นของไหว้ 2 อย่างหลัก ส่วนของไหว้ชิ้นที่ 3 จะเปลี่ยนจากหมูชิ้น เป็นปลาหมึกแห้งตัวใหญ่ หรือ ปลาทั้งตัว ก็ได้) หากต้องการไหว้ชุดใหญ่ 5 อย่าง เราจะเรียกว่า “โง้วแซ”

ช่วงเวลาที่ไหว้จะมีอยู่ 2 ครั้ง ครั้งแรก เป็นการไหว้ช่วงเทศกาลตรุษจีน และครั้งที่สอง เป็นวันสารทจีน ภัตตาคารตงเพ้ง เป็นภัตตาคารจีนที่เก่าแก่ร่วม 40 ปี มีชื่อเสียงในด้านความอร่อยด้วยความเอาใจใส่ของผู้บริหารร้าน ลูกค้าจะมาสั่งชุดซาแซล่วงหน้า ช่วงเวลาส่งมอบประมาณไม่เกิน 3-5 วัน หรือมารับวันไหว้ การเตรียมตัวผลิตในช่วงก่อน 7 วัน ก่อนถึงวันไหว้ จะวุ่นวายมากในร้าน ตั้งแต่การเตรียมวัตถุดิบ การทำความสะอาด การแปรรูปทำให้สุกตรงปก เมื่ออาหารเสร็จต้องรอให้หายร้อน แล้วจัดวางบนถาดสีแดง ติด Tag หมายเลขออเดอร์ ชื่อลูกค้า พร้อมรายการอาหาร Combination ที่บรรจุอยู่ด้านใน เช่น รายแรก ต้องการ ไก่ต้ม เป็ดพะโล้ หมูชิ้นต้ม รายที่สอง เป็นไก่ต้ม เป็ดย่าง หมูแดงย่าง เป็นต้น
พอเห็นภาพความโกลาหลในการบริหารจัดการออเดอร์ช่วงตรุษจีน และสารทจีน ที่มีปริมาณออเดอร์จำนวนมากไหมครับ ทางภัตตาคารต้องจัดเตรียมพื้นที่ ทำชั้นวาง และวางบนโต๊ะเป็นแนวราบ เพราะไม่สามารถวางซ้อนทับกันได้ นอกจากเทศกาลหลักแล้ว ก็มีการสั่งชุดไหว้ซาแซในช่วงเทศกาลเช็งเม้ง หรืองานศพ ซึ่งปริมาณการสั่งออเดอร์จะน้อยกว่า งานบริหารจัดการในช่วงนี้จึงไม่วุ่นวายมากนัก

แนวทางการออกแบบกล่องบรรจุภัณฑ์ซาแซ จึงมุ่งเน้นการส่งมอบชุดซาแซเพื่อความเป็นสิริมงคลตามความเชื่อของคนไทยเชื้อสายจีน โดยคำนึงถึงการป้องกันความเสียหายจากการรับน้ำหนักที่เกิดจากเรียงซ้อนกล่องถึง 5 ชั้น นั่นหมายถึงกล่องล่างสุดจะรับน้ำหนักได้มากกว่า 30 กิโลกรัม เพื่อความปลอดภัยภายในร้านจึงแนะนำให้วางซ้อนเพียง 3 ชั้นโดยวางบนโต๊ะ จากการคำนวนสามารถประหยัดพื้นที่ได้มากกว่า 60% เมื่อเปรียบเทียบกับวิธีการวางแบบเดิม อีกทั้งกล่องที่ออกแบบจะต้องเหมาะสำหรับการขนส่งบนรถบรรทุก และสามารถอยู่ในรถขนส่งแบบห้องเย็นได้ นักออกแบบจึงนำข้อมูลทั้งหมดนี้มาเป็นโจทย์สำคัญในการออกแบบ โดยคำนึงตั้งแต่การเลือกวัตถุดิบในการผลิตกล่อง การออกแบบโครงสร้างที่แข็งแรง เพิ่มความสะดวกในกระบวนการผลิต และลดต้นทุนการใช้วัตถุดิบได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ ในส่วนของงานกราฟิกบนกล่อง มีการใช้ Icon สื่อถึงความเป็นสิริมงคล และข้อความสื่อสารกับผู้บริโภคอย่างชัดเจนครบถ้วน พร้อมช่องสำหรับให้มือสอดเพื่อเพิ่มความสะดวกในการยก นอกจากนี้ นักออกแบบยังคำนึงถึง ความสะดวก การประหยัดเนื้อที่ ในการขนส่งกล่องจากโรงงานผลิตสู่ภัตตาคาร โดยออกแบบให้ ชิ้นงานคลี่ออกเป็นแผ่นแบน เมื่อต้องการใช้งานก็สามารถพับขึ้นรูปออกมาเป็นกล่องโดยไม่ได้ใช้เทปกาว หรือ ตัวแม็กซ์ ยึดกล่อง หรือที่เรียกกันว่า Glueless – เป็นแนวคิดการออกแบบที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อม





การออกแบบบรรจุภัณฑ์ นอกจากเป็นการแก้ปัญหา Pain point แล้ว ยังส่งเสริมภาพลักษณ์ให้กับแบรนด์ และสินค้า สื่อถึงความเอาใจใส่ลูกค้า ข้อมูลแนะนำการเก็บรักษาอาหาร ที่สร้างความประทับใจให้กับลูกค้าได้เป็นอย่างมาก เรียกได้ว่าเป็น แนวทางกลยุทธ์ WIN-WIN-WIN ลูกค้าผู้บริโภคของตงเพ้ง WIN ลูกค้าของตงเพ้ง (END USER) ประทับใจได้รับอาหารที่สมบูรณ์ ไม่เสียหาย มีข้อความสื่อสารอย่างชัดเจนด้วยกล่องบรรจุภัณฑ์ที่สวยงาม น่าประทับใจ ตงเพ้ง WIN สามารถใช้พื้นที่การทำงานได้มากขึ้น สามารถบริการให้กับลูกค้าได้เร็วขึ้น และ โรงกล่องผู้ผลิต WIN โรงงานผลิตกล่อง (PRODUCTION) สามารถผลิตกล่องได้อย่างมีประสิทธิภาพ และประหยัดการขนส่งได้มาก ลดการใช้วัตถุดิบด้วยการออกแบบที่เหมาะสม
#ThaiPDA #PackageDesign


โชตินรินทร์ วิภาดา
ผู้เชี่ยวชาญด้านกลยุทธิ์ การสร้างแบรนด์ การพัฒนาสินค้าและบรรจุภัณฑ์ แบบครบวงจร - เลขาธิการสมาคมการออกแบบบรรจุภัณฑ์ไทย (ThaiPDA)