เรียนรู้หัวใจพื้นฐานของการสร้างแบรนด์ผ่าน Aromatic Farm

ไม่มีกฎข้อใดที่ระบุว่า “แบรนด์” ถูกออกแบบมาเพื่อใช้สำหรับองค์กร หรือธุรกิจเงินถึงเท่านั้น ในทางตรงกันข้าม ผมกลับคิดว่า แบรนด์คือสิ่งที่รายล้อมอยู่รอบตัวเรา ไม่ว่าการทำมาค้าขายนั้นจะใช้เงินลงทุนเล็กน้อยแค่ไหน เพราะสุดท้ายแล้ว “ลูกค้า” และ “ผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย” ที่บริโภคสินค้า และ/หรือบริการของเราต่างหากที่จะเป็นผู้กำหนดภาพลักษณ์ของแบรนด์ ๆ หนึ่งขึ้นมาอย่างแท้จริง ซึ่งมันเกิดขึ้นภายหลังจากที่เขาได้สัมผัสกับประสบการณ์ จากการซื้อสินค้า จากการกินดื่ม หรือแม้กระทั่งการพูดคุยกับพนักงานส่วนบริการของเรา และนั่นก็คือภาพของแบรนด์ที่เกิดขึ้นแล้วโดยอัตโนมัติ

ยกตัวอย่างเช่น  เวลาเราเดินไปตลาด เราจะเลือกซื้อผักสดจากร้านที่ดูสะอาด ผักมีคุณภาพจัดวางเป็นระเบียบ ราคาเป็นมิตร รวมไปถึงการพูดคุยกับแม่ค้าพ่อขายที่มีรอยยิ้ม รายละเอียดเหล่านี้กำลังทำหน้าที่สร้างภาพลักษณ์ด้านบวกให้กับร้านขายผักนี้โดยอัตโนมัติ ผลที่ตามมาก็คือ นอกจากเราจะเห็นลูกค้าเก่าที่กลับมาซื้อซ้ำอย่างสม่ำเสมอ ยังมีลูกค้ารายใหม่ที่แวะเวียนมาตามคำแนะนำของเพื่อน ๆ ด้วย นี่แหละคือ ‘แบรนด์ดิ้ง’ ที่เหล่าลูกค้าได้สร้างให้กับร้านขายผักแห่งนี้ โดยที่พ่อค้าแม่ขายอาจไม่เคยมีความคิดเรื่องการสร้างแบรนด์มาก่อนด้วยซ้ำไป สำหรับผมแล้ว ร้านขายผักแห่งนี้ถือว่ามีหัวใจพื้นฐานด้านการสร้างแบรนด์ที่ดี

คำถามยอดฮิต และเป็นคำถามแรก ๆ ที่ผมได้ยินจากการลงพื้นที่พูดคุยกับชุมชน และผู้ประกอบการ SMEs หลายท่านกังวลว่า สินค้าเราไม่มีอะไรน่าสนใจเลย ทั้ง ๆ ที่ในความเป็นจริง เราอาจจะมีอะไรซ่อนอยู่ในสินค้า และงานบริการ แต่เราอาจมองข้ามสิ่งนั้นไป อาจเป็นเพราะความเคยชินจนไม่เห็น “คุณค่า” ดี ๆ เหล่านั้น หรือเราคิดไปเองว่า สิ่งเหล่านั้นอาจไม่มีคุณค่าในสายตาของผู้อื่น ๆ  นอกจากนี้ วิถีชีวิตที่เป็นอยู่รอบตัว ก็คือมรดกภูมิปัญญาทักษะงานช่างที่เราสามารถนำมาสร้างอัตลักษณ์ และพัฒนาเป็นแบรนด์ที่ยั่งยืนได้ และนี่คือ 3 องค์ประกอบสำคัญอันเป็นหัวใจพื้นฐานของการสร้างแบรนด์ที่ชุมชน หรือผู้ประกอบการ SMEs สามารถนำไปปรับใช้ได้

1. ค้นหาอัตลักษณ์สร้างความแตกต่าง จะสร้างแบรนด์ให้เป็นที่จดจำ เราก็ต้องหา “อัตลักษณ์” ที่สะท้อนตัวตนของเราให้เจอ อัตลักษณ์ที่เอ่ยถึงนี้ อาจเป็นในเรื่องของวัตถุดิบที่แตกต่าง กระบวนการผลิตที่มีสูตรลับเฉพาะ วิถีชีวิตที่หล่อหลอมจนสร้างให้เกิดแบรนด์ ภาษาถิ่น หรือแม้กระทั่งความเชื่อ ความศรัทธา ก็สามารถนำมาสร้าง “อัตลักษณ์” ให้กับแบรนด์เราได้ อาทิ แบรนด์ Aromatic Farm แบรนด์มะพร้าวน้ำหอม ที่ใคร ๆ อาจคิดว่าจะเอาอะไรไปสร้างความแตกต่างให้กับมะพร้าว !!! แต่สำหรับคุณออน นวลลออ เทอดเกียรติกุล ผู้ก่อตั้งแบรนด์ Aromatic Farm นำจุดขายของความเป็นออร์แกนิก มะพร้าวอินทรีย์ มาสร้าง “คุณค่าที่แตกต่าง” ผ่านวิถีการทำงาน ได้แก่ มาตรฐานอินทรีย์วิถีไทย (Earth Safe) วิถีเกษตรธรรมาติบำบัดธรรมชาติ ผสมผสานภูมปัญญาท้องถิ่นกับความทันสมัย พร้อมสร้างชุมชนเกษตรกรให้เข้มแข็ง อันเป็นจุดที่ยืนอยู่บนความยั่งยืนทั้ง People Planet และ Profit และมี Brand Being คือ สร้างสมดุลชีวิต ด้วยมะพร้าวน้ำหอมอินทรีย์

2. ส่งต่อ “คุณค่า” ผ่านเรื่องราว เมื่อมีอัตลักษณ์ที่แตกต่างแล้ว ขั้นตอนต่อไปคือการส่งมอบ “คุณค่าที่แตกต่าง” ให้ผู้บริโภค และผู้มีส่วนได้ส่วนเสียรับรู้ วิธีการส่งมอบ “เรื่องราว” มีหลายรูปแบบ อาทิ การส่งมอบคุณค่าผ่านงานออกแบบ เช่นเดียวกับแบรนด์ Aromatic Farm ที่ส่งต่อคุณค่าผ่านภาพ Illustration ภาพบรรยากาศของสวนท้องร่อง ที่บอกเล่าเรื่องราวของความสุขในการทำสวนผ่าน Character พี่ออน และทีมงาน ที่อบอุ่นด้วยลายเส้น และการลงสี Texture สีฝุ่น เพื่อให้ภาพจำสื่อถึง “ความอบอุ่นสดชื่นในสวนมะพร้าว” พร้อมกำหนดธีมดีไซน์ให้อยู่ใน Mood & Tone ที่เป็นธรรมชาติ เข้าถึงง่าย แสดงถึงความอบอุ่น และใส่ใจในทุกรายละเอียด บนทุกจุดของงานออกแบบ ไม่ว่าจะเป็น ตราสัญลักษณ์ งานออกแบบบรรจุภัณฑ์ ภาพประกอบ Illustration รวมไปถึงทุกเครื่องมือสื่อสารทางการตลาด เช่น เว็บไซต์ สื่อสังคมออนไลน์ หรือแม้กระทั่งการสัมภาษณ์ผ่านสื่อต่าง ๆ  

3. สร้าง “ความผูกพัน” ผ่านประสบการณ์ นอกเหนือไปจาก “คุณภาพ” ของมะพร้าวน้ำหอมอินทรีย์ที่มีประโยชน์กับผู้บริโภคแบบไร้สารพิษแล้ว พี่ออนยังจัดสรรพื้นที่ภายในสวนมะพร้าวให้เป็นแหล่งเรียนรู้การทำ สวนมะพร้าวน้ำหอมอินทรีย์ ผ่านฐานการเรียนรู้ถึง 9 ฐาน ได้แก่ สถานีเรียนรู้ปุ๋ยหมัก สถานีเรียนรู้กำจัดศัตรูพืช สถานีเรียนรู้เรือรดน้ำ สถานีเรียนรู้สัตว์เลี้ยงในฟาร์ม สถานีเรียนรู้ Harvest สถานีเรียนรู้พันธุ์มะพร้าวน้ำหอม สถานีเรียนรู้ผึ้งชันโรง สถานีเรียนรู้ GMP และสถานีเรียนรู้การบริหารจัดการขยะภายในพื้นที่ ตอกย้ำหัวใจหลักของแบรนด์ในการสร้างสมดุลชีวิต และธรรมชาติ เป็นการสร้างประสบการณ์ดี ๆ ให้กับผู้มาเยือน

ปัจจุบัน นอกจากสวนมะพร้าวอินทรีย์ 10 ไร่ที่พี่ออนเป็นเจ้าของ พี่ออนยังสร้างเครือข่ายเกษตรกรในพื้นที่รวมทั้งสิ้นกว่า 1,020 ไร่ 34 ครัวเรือน กลายเป็นแหล่งรับซื้อมะพร้าวน้ำหอมอินทรีย์ที่ดีมีคุณภาพ และเป็นต้นแบบให้เกษตรกรในเครือข่ายหันมาปลูกมะพร้าวน้ำหอมอินทรีย์ ที่สร้างรายได้ที่มั่นคง และยั่งยืน นอกจากมะพร้าวน้ำหอมอินทรีย์ที่ขายเป็นลูกแล้ว ยังมีการแปรรูปมะพร้าวน้ำหอมให้สอดคล้องกับความต้องการของกลุ่มเป้าหมายที่หลากหลายด้วย เช่น เนื้อมะพร้าวน้ำหอมอินทรีย์ น้ำมะพร้าวน้ำหอมอินทรีย์ วุ้นมะพร้าวน้ำหอมอินทรีย์ เป็นต้น และนี่คือ 3 องค์ประกอบสำคัญอันเป็นหัวใจพื้นฐานของการสร้างแบรนด์ที่ชุมชน และผู้ประกอบการ SMEs สามารถนำไปปรับใช้ให้สอดคล้องกับสินค้า และงานบริการของตนเองได้

ขอขอบคุณข้อมูลอ้างอิงเรื่อง Aromatic Farm แบรนด์มะพร้าวน้ำหอมอินทรีย์  จาก Yindee Design มา ณ ที่นี้

#ThaiPDA #Brand #YindeeDesign #PackageDesign

Leave a Comment

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

Scroll to Top