9 เทรนด์บรรจุภัณฑ์ไทยปี 2025 โดย แชมป์ สมชนะ กังวารจิตต์

เมื่อบทบาทหน้าที่ของบรรจุภัณฑ์ไม่ได้ทำหน้าที่เพียงแค่ห่อหุ้มสินค้าปกป้องให้คงคุณภาพก่อนถึงมือผู้บริโภค แต่ยังรับภาะที่หนักอึ้งในการเสริมสร้างภาพลักษณ์ให้กับแบรนด์ทั้งในด้านตอบสนองความต้องการของผู้บริโภค รวมไปถึงความรับผิดชอบต่อชุมชน สังคม และสิ่งแวดล้อม และนี่คือบทสรุป 9 เทรนด์การออกแบบบรรจุภัณฑ์ไทย โดย “แชมป์ – สมชนะ กังวารจิตต์” นักออกแบบบรรจุภัณฑ์จาก Prompt Design ที่กวาดรางวัลมามากกว่า 200 รางวัล

1. Leave Nothing Behind ทุกชิ้นส่วนมีค่ากับการออกแบบที่ไม่เหลือทิ้ง

แม้ว่าบรรจุภัณฑ์มีประโยชน์อย่างยิ่งในการปกป้องสินค้า แต่หลายท่านยังมองว่า บรรจุภัณฑ์คือขยะที่ไร้ค่าหลังจากบริโภคสินค้าเสร็จ โดยเฉพาะบรรจุภัณฑ์แบบใช้ครั้งเดียว เช่น ถุงใส่น้ำปลาพริก กล่องใส่อาหาร ซองขนมขบเคี้ยว ฯลฯ ด้วยเหตุนี้ แนวคิดการออกแบบเพื่อความยั่งยืนจึงกลายเป็นโจทย์สำคัญที่ผู้ประกอบการไม่ควรมองข้าม เพื่อให้บรรจุภัณฑ์ทุกชิ้นมีคุณค่า สามารถนำกลับไปรีไซเคิลได้ รวมไปถึงการคิดค้นนวัตกรรมทางด้านวัสดุใหม่เพื่อให้บรรจุภัณฑ์สามารถทานได้ เช่น ผลิตภัณฑ์ Oat Bar สำหรับนักปั่นจักรยานภายใต้แบรนด์ OGT (One Good Thing) ที่นำขี้ผึ้ง (Beewax) เป็นส่วนประกอบสำคัญในการห่อหุ้ม Oat Bar แทนซองพลาสติก อีกทั้งยังออกแบบให้มีขนาดที่นักปั่นจักรยานพกพาในกระเป๋ากางเกงได้สะดวก ที่สำคัญ Beewax ที่ว่านี้สามารถรับประทานได้ ในส่วนของบรรจุภัณฑ์กล่องรวมขนาดใหญ่ ทีมงานเลือกใช้วัสดุที่สามารถรีไซเคิลได้ 100% (มีสัดส่วนของวัตถุดิบรีไซเคิลในบรรจุภัณฑ์กว่า 70%) พร้อมใช้หมึกพิมพ์ที่สามารถรับประทานได้ ตอกย้ำแนวคิดการออกแบบอย่างยั่งยืนที่ช่วยให้โลกก้าวไปสู่ความเป็น Circular Economy ได้มากขึ้น

2. Packaging with a Purpose ส่งมอบ “คุณค่า” ผ่านบรรจุภัณฑ์

นอกจากการปกป้องสินค้า และความสวยงามแล้ว การส่งมอบ “คุณค่าของแบรนด์” ผ่านเรื่องราวบนงานออกแบบบรรจุภัณฑ์เป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่ง เป็นเทรนด์การออกแบบที่ก้าวออกจากมาตรฐานเดิม ๆ เช่น บรรจุภัณฑ์ Single Malt Whisky ระดับหรูพรีเมี่ยมตัวแรกของอินเดียภายใต้แบรนด์ GODAWAN ที่ต้องการสร้างความตระหนักให้ผู้บริโภค และผู้พบเห็นทั่วไปรับรู้ว่า นก Great Indian Bustard หรือ นก GODAWAN ที่พำนักถิ่นที่รัฐราชสถานกำลังจะสูญพันธุ์ไปจากโลก ทีมงานจึงออกแบบบรรจุภัณฑ์ GODAWAN 100 Series โดยนำภาพวาดลายเส้นของนก GODAWAN เป็น Key Visual หลักพร้อมข้อความ “born and nurtured in Rajasthan” ภาพวาดนก GODAWAN ที่ปรากฏบนบรรจุภัณฑ์มีทั้งสิ้น 100 ภาพตามจำนวนของนกที่หลงเหลืออยู่ในพื้นที่ ส่งผลให้บรรจุภัณฑ์ทั้ง 100 ขวดกลายเป็นงานศิลปะชิ้นพิเศษจากช่างฝีมือในพื้นที่พร้อมตอกย้ำความสำคัญของนก GODAWAN แต่ละตัวที่ยังมีชีวิตอยู่ อีกหนึ่งตัวอย่างที่น่าสนใจคือ ผลิตภัณฑ์ผลไม้ และผักทอดแบรนด์ Kudson ภายใต้แนวคิด Perfectly Imperfect ที่นำภาพผลไม้ และผักที่ดูแปลกตา ผิดรูป บิดเบี้ยวจากมาตรฐานความงามเดิม ๆ มาเป็นภาพหลักบนบรรจุภัณฑ์ เพื่อสะท้อนให้เห็นว่า “ความงดงามของคุณอยู่ในตัวคุณเอง หาใช่เปลือกนอก” เพราะผลไม้ และผักที่ผิดรูปยังมีคุณค่าทางโภชนาการที่ดีเยี่ยมไม่ต่างจากผลไม้ และผักที่สวยงามแบบพิมพ์นิยมเลย ที่สำคัญรายได้ส่วนหนึ่งจากทุกผลิตภัณฑ์จะถูกส่งมอบให้มูลนิธิเพื่อพัฒนาเด็ก เพื่อสนับสนุนเด็กพิการ ให้พวกเขาได้เห็นคุณค่าในตัวเอง เป็นคุณค่าที่แท้จริงภายใน

3. Cultural Fusion ผสมผสานวัฒนธรรม

เพราะความเป็นไทยไม่ได้มีเพียงแค่ ลายกนก วัดวาอาราม แต่คือไลฟ์สไตล์ที่มีสีสัน ด้วยเหตุนี้ แนวทางการออกแบบจากเดิมที่เคยนิ่ง ๆ อ่อนโยน ได้ถูกปรับเปลี่ยนให้มีสีสันตามประเภทของสินค้า และไลฟ์สไตล์ของกลุ่มเป้าหมาย เช่น แบรนด์ OMSOM ผลิตภัณฑ์ซอสปรุงรส และเส้นก๋วยเตี๋ยว ที่มีรสชาติแบบเอเชียแท้ ๆ ปรุงโดยเชฟชั้นนำเป็นจุดขาย บรรจุภัณฑ์ที่ออกแบบมาจึงมีสีสันจัดจ้าน ทันสมัย และสนุกสนานในสไตล์ Pop Culture ตามรสชาติของอาหารทั้งไทย เวียดนาม เกาหลี ญี่ปุ่น และจีน อีกหนึ่งตัวอย่างที่น่าสนใจเป็นแบรนด์ไทยน้องใหม่ “ซี๊ดเด้อ” ผลิตภัณฑ์น้ำจิ้มผลไม้รสแซ่บ ที่นำเอาวัฒนธรรมการกินผลไม้รสเปรี้ยวแซ่บมาสร้างเป็นแบรนด์ นอกจากสีสันของบรรจุภัณฑ์ที่จี๊ดจ๊าดแล้ว ทีมงานยังออกแบบคาแรคเตอร์ผลไม้ที่ดูแซ่บ ยั่วยวน เปรี้ยวจี๊ด มาประกอบกับฉลากบนบรรจุภัณฑ์ สร้างความแปลกใหม่ให้กับน้ำจิ้มผลไม้ที่คุณคุ้นเคย

4. Single Symbolics, Endless Identity นำสัญลักษณ์สร้างจุดเด่นบนบรรจุภัณฑ์ และสื่อทางการตลาด

เพื่อให้ผู้บริโภคจดจำแบรนด์ และสินค้าได้ดีขึ้น การนำสัญลักษณ์ที่ปรากฏบนโลโก้ จึงกลายเป็นอีกหนึ่งเครื่องมือสำคัญในการสร้างการรับรู้ และเพิ่มการจดจำให้กับแบรนด์ เช่น การนำเครื่องหมายขีดบนตัวอักษร é ที่ปรากฏบนโลโก้ Nescafe มาขยายใหญ่ วางลงบนพื้นหลังของฉลากบนบรรจุภัณฑ์ เพื่อให้ผู้บริโภคจดจำเครื่องหมายขีด อันเป็นตัวแทนของโลโก้ Nescafe อีกหนึ่งตัวอย่างที่น่าสนใจคือการนำโครงหน้าของโลโก้ Nestle Bear Brand มาพัฒนาเป็น Icon กราฟิกสำหรับใช้บนสื่อโฆษณา เพื่อตอกย้ำความเป็นหมีให้ชัดเจนมากขึ้น

5. Back to Begin เชื่อมจุดเดิมสู่สิ่งใหม่

แนวทางการออกแบบที่หยิบองค์ประกอบจากอดีตบางส่วนมาปรับใช้ให้เกิดความร่วมสมัย สอดคล้องกับบริบทในปัจจุบัน เป็นอีกหนึ่งแนวทางที่สร้างความสำเร็จได้ เทรนด์นี้เหมาะกับแบรนด์ที่เติบโตมาอย่างยาวนาน เช่น การรีแบรนด์ใหม่ของ Pepsi ที่นำโลโก้ในช่วงปี ‘80s มาปรับปรุงให้เกิดโลโก้ใหม่ ที่อาจมีกลิ่นกลิ่นอายย้อนยุคแต่ถูกนำเสนอในองค์ประกอบงานกราฟิกที่สดใหม่ สีสันสดใส โลโก้แบบนี้เหมาะกับการนำไปใช้ในสื่อโฆษญาทางการตลาดที่หลากหลาย รวมไปถึงงานออกแบบบรรจุภัณฑ์ด้วย

6. Brand Merch ขยายแบรนด์เข้าสู่ชีวิตประจำวัน

Brand Merch (Brand Merchandise) เป็นการนำอัตลักษณ์ของแบรนด์ขยายไปสู่สินค้าไลฟ์สไตล์ของผู้บริโภค เพื่อส่งเสริมการขาย สร้างความผูกพัน และเพิ่มการรับรู้ในแบรนด์ให้มากขึ้น อีกทั้งยังช่วยสร้างรายได้เพิ่มเติมจากสินค้าเหล่านี้ด้วย เช่น แบรนด์ M&M ช็อคโกแลต ละลายในปาก ไม่ละลายในมือ กับการขยายแบรนด์ไปสู่สินค้าไลฟ์สไตล์ แก้ว ตุ๊กตา หมวก เสื้อยืด หมอนอิง ฯลฯ 

7. IP Character พลังของคาแรคเตอร์

IP Character (Intellectual Property Character) การสร้างตัวละครที่มีเอกลักษณ์สะท้อนตัวตนของแบรนด์สามารถนำไปต่อยอดเป็นสินค้าลิขสิทธิ์ที่สร้างมูลค่าได้มากมาย ตัวอย่างที่เห็นได้อย่างชัดเจนในช่วงนี้ คือ คาแรคเตอร์หมีเนย Butterbear จากเดิมที่เป็นเพียงแค่มาสคอตประจำร้านเบเกอรี่สู่สินค้าลิขสิทธิ์ ที่สร้างรายได้มหาศาล หัวใจสำคัญคือ ตัวละครที่สร้างจะต้องมีเรื่องราว มีบุคลิกเฉพาะ เพื่อเชื่อมโยงกับผู้บริโภค เป็นการสร้างความสัมพันธ์ในระยะยาว และช่วยเสริมสร้างภาพลักณ์ให้กับแบรนด์ได้เป็นอย่างดี

8. AI-Inspired ผสานอัจฉริยะของ AI กับมนุษย์

ปฏิเสธไม่ได้ว่า AI เข้ามามีบทบาทอย่างยิ่งในการทำงานแทบทุกวงการ ด้วยคุณสมบัติที่โดดเด่นในการประมวลผลข้อมูลมหาศาลได้อย่างรวดเร็ว จึงทำให้ AI กลายเป็นเครื่องมือสำคัญที่ย่นระยะเวลาการทำงานได้ แต่การ Gen ภาพให้ตรงตามโจทย์จะขาด “คน” ไม่ได้ ดังนั้น การวิเคราะห์โจทย์ การหาจุดปรับปรุงแก้ไข โดยมนุษย์ เป็นหัวใจหลักในส่งมอบ “คำสั่ง” เพื่อดึงประสิทธิภาพของ AI มาใช้ได้อย่างสูงสุด

9. Minimalist & Maximalist น้อยแต่มาก หรือมากแต่แม่น

แม้ว่าเทรนด์งานออกแบบแนวมินิมอลจะถูกนำมาใช้อย่างต่อเนื่องเป็นระยะเวลานาน ตอบโจทย์ผู้บริโภค และแบรนด์ที่มีความเรียบง่าย พอดี มีพื้นที่ว่างให้พักสายตา โดยเน้นประโยชน์ใช้สอยเป้นหลัก แต่แนวคิด Maximalist แบบจัดเต็ม เน้น ๆ ก็สามารถสร้างเสน่ห์ให้กับงานออกแบบได้ไม่แพ้กัน เช่น แบรนด์ไอศกรีมนมวัว Alec’s ที่นำเสนอภาพวาดมิตรภาพน้องวัวและโลกบนบรรจุภัณฑ์ เพื่อสะท้อนให้เห็นถึงความมุ่งมั่นในการลดมลพิษในชั้นบรรยากาศ จนทำให้น้องวัวกับโลกกลับมาคืนดีกันอีกครั้ง ภาพวาดแบบจัดเต็มพร้อมภาพไอศกรีมที่อาจดูเยอะ ๆ กลับสร้างชีวิตชีวาบนบรรจุภัณฑ์ได้อย่างดี ทั้งหมดนี้เกิดจากการจัดวางตำแหน่งองค์ประกอบของภาพ การเลือกใช้คู่สีที่เหมาะสม ส่งผลให้งานบรรจุภัณฑ์ดูลงตัว น่าสนใจมากขึ้น

การออกแบบบรรจุภัณฑ์จึงไม่ได้ทำหน้าที่ปกป้องสินค้า หรือบ่งบอกตัวตนของแบรนด์เพียงอย่างเดียว แต่ยังเป็นสื่อกลางในการแสดงความรับผิดชอบต่อชุมชน สังคม และสิ่งแวดล้อม เพื่อสร้างโลกใบนี้ให้น่าอยู่ยิ่งขึ้น 

เรียบเรียงบทความจาก Ad Addict เรื่อง เผย 9 เทรนด์บรรจุภัณฑ์ไทยที่ทุกคนไม่ควรพลาดในปี 2025 โดยนักออกแบบไทยมือรางวัลระดับโลก แชมป์ สมชนะ Thailand Packaging Trend 2025

#ThaiPDA #สมชนะ #PromptDesign

Leave a Comment

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

Scroll to Top