
ประเภทของบรรจุภัณฑ์ หลักพื้นฐานที่ผู้ประกอบการไม่ควรมองข้าม
เรื่อง : สุวิทย์ วงศ์รุจิราวาณิชย์
ปฏิเสธไม่ได้ว่า พฤติกรรมการบริโภคที่เปลี่ยนไปอย่างรวดเร็วส่งผลให้บรรจุภัณฑ์มีรูปแบบที่หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องของงานออกแบบรูปลักษณ์ให้ความสวยงาม โครงสร้างของบรรจุภัณฑ์ที่ช่วยปกป้องสินค้า รวมไปถึงการเลือกใช้วัสดุที่เหมาะสมเพื่อให้สินค้าที่บรรจุอยู่ภายในคงคุณภาพก่อนถึงมือผู้บริโภค และนี่คือ 4 ประเภทของบรรจุภัณฑ์ หลักพื้นฐานเบื้องต้นที่ผู้ประกอบการไม่ควรมองข้าม

บรรจุภัณฑ์ชั้นที่ 1 หรือ ชั้นปฐมภูมิ (Primary Packaging)
เป็นบรรจุภัณฑ์ชั้นในสุดที่สัมผัสกับผลิตภัณฑ์ มีหน้าที่หลักในการปกป้อง และรักษาผลิตภัณฑ์ให้อยู่ในสภาพที่สมบูรณ์ เช่น ซองใส่มันฝรั่งทอดกรอบที่ดูเหมือนอัดอากาศเข้าไปมากจนพองโต เหตุผลสำคัญนอกจากจะปกป้องให้มันฝรั่งทอดกรอบไม่แตกหักระหว่างการขนส่งแล้ว อากาศที่บรรจุอยู่ภายในมีส่วนผสมหลักเป็นก๊าซไนโตรเจน ที่ช่วยรักษาความกรอบของมันฝรั่งให้เคี้ยวเพลินหลังจากผู้บริโภคเปิดซอง กระป๋องน้ำอัดลมที่ผลิตจากอลูมิเนียมสามารถรีไซเคิลได้ 100% โดยมีชั้นกลางเป็นโพลีเมอร์เสริมความแข็งแกร่ง และแผ่นฟิลม์โพลิเอทิลีนเคลือบผิวด้านในไว้บาง ๆ เพื่อไม่ให้น้ำดื่มสัมผัสกับอลูมิเนียมโดยตรง หรือกล่องนม UHT ที่เราคุ้นเคย เกิดจากการเรียงซ้อนกันของวัสดุถึง 6 ชั้น (โพลีเอทิลีน – กระดาษ – โพลีเอทิลีน – อลูมิเนียมฟอยล์ – โพลีเอทิลีน – โพลีเอทิลีน) แต่ละชั้น แต่ละวัสดุก็ทำหน้าที่ต่างกัน อาทิ กระดาษ ทำหน้าที่หลักในการเพิ่มความแข็งแรง โพลีเอทิลีน ป้องกันความชื้น การรั่วซึม ยึดกล่องให้แข็งแรง และ อลูมิเนียมฟอยล์ ที่ช่วยควบคุมอุณหภูมิ เพื่อให้ผลิตภัณฑ์ที่บรรจุอยู่ด้านในสามารถเก็บไว้ได้นาน โดยไม่ต้องแช่เย็น

บรรจุภัณฑ์ชั้นที่ 2 หรือ ชั้นทุติยภูมิ (Secondary Packaging)
เป็นบรรจุภัณฑ์ที่ทำหน้าที่หลักในการรวบรวมบรรจุภัณฑ์ชั้นที่ 1 เข้าไว้ด้วยกัน ช่วยเพิ่มความสะดวกต่อการเคลื่อนย้าย การเก็บรักษา และการจัดแสดงในร้านค้าปลีก เช่น กล่องกระดาษลูกฟูกสำหรับบรรจุซองมันฝรั่งทอดกรอบ กล่องลูกฟูกสำหรับบรรจุสบู่หลายก้อน หรือกล่องลูกฟูกสำหรับบรรจุกล่องนม UHT บรรจุภัณฑ์ประเภทนี้ช่วยให้ผลิตภัณฑ์มีความเป็นระเบียบ จัดเรียงง่าย เพิ่มความสะดวกในการบริหารจัดการ

บรรจุภัณฑ์ชั้นที่ 3 หรือ ชั้นตติยภูมิ (Tertiary Packaging)
บางทีเรียกว่า บรรจุภัณฑ์เพื่อการส่งสินค้า (Shipping Packaging) บรรจุภัณฑ์เพื่อการกระจายสินค้า (Distribution Packaging) หรือบรรจุภัณฑ์เพื่อการขนส่ง (Transport Packaging) เป็นบรรจุภัณฑ์ที่รวบรวมบรรจุภัณฑ์ชั้นที่ 1 หรือชั้นที่ 2 เข้าไว้ด้วยกันในปริมาณมาก ๆ ช่วยอำนวยความสะดวกในการจัดเก็บสต๊อกสินค้าเพื่อรอการจัดส่ง หรือเพื่อการขนส่งจากแหล่งผู้ผลิตไปสู่แหล่งจำหน่าย ดังนั้น บรรจุภัณฑ์ประเภทนี้ต้องมีการออกแบบโครงสร้างให้มีความแข็งแรงต่อการขนส่ง ง่ายต่อการเคลื่อนย้าย และการซ้อนทับ เช่น กล่องลูกฟูกขนาดใหญ่ ลังไม้ หรือลังพลาสติกที่เหมาะกับการขนส่งระยะไกล บรรจุภัณฑ์ประเภทนี้ไม่ถูกผู้บริโภคมองเห็นแบบโดยตรง แต่มีบทบาทสำคัญในการรักษาคุณภาพของผลิตภัณฑ์ตลอดการขนส่งเป็นสำคัญ

บรรจุภัณฑ์เพื่อส่งเสริมการขาย (Promotional Packaging)
บรรจุภัณฑ์ประเภทนี้ออกแบบมาเพื่อดึงดูดความสนใจ และกระตุ้นเกิดการซื้อมากกว่า 1 หน่วย นอกจากจะมีรูปลักษณ์ที่น่าดึงดูดแล้ว ยังมีโปรโมชั่นลดแลกแจกแถมเพื่อเพิ่มความน่าสนใจด้วย เช่น ปลอกกระดาษรัดโยเกิร์ตแบบบรรจุ 2 หน่วย และกล่องกระดาษบรรจุยาสีฟัน 3 หลอด ที่กระตุ้นให้ผู้บริโภคซื้อสินค้ามากกว่า 1 หน่วย ห่วงกระดาษรวบขวดน้ำผลไม้สกัดเย็นแบบ 6 ขวด ช่วยให้ผู้บริโภคถือกลับบ้านได้ง่ายโดยไม่ต้องใส่ถุงพลาสติก หรือฟิลม์หดรัดน้ำอัดลม 6 กระป๋องเข้าไว้ด้วยกัน ช่วยให้ผู้บริโภคหยิบซื้อน้ำอัดลมกระป๋องในปริมาณมากได้ง่ายขึ้น
การเลือกใช้วัสดุที่เหมาะสม โครงสร้างของบรรจุภัณฑ์ที่แข็งแรง นอกจากจะช่วยให้สินค้าคงคุณภาพก่อนถึงมือผู้บริโภคแล้ว บรรจุภัณฑ์แต่ละประเภทยังมีส่วนสำคัญในการส่งเสริมการขาย พร้อมเสริมสร้างภาพลักษณ์ให้กับแบรนด์ด้วย